วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ขอพรให้ท้องนา สืบรากชาวกูย

ขอพรให้ท้องนา สืบรากชาวกูย

         เป็นอารยะโดยการดูถูกรากเหง้าของตัวเองน่ะหรือ?
  ไม้ใหญ่จะยืนทะนงต้านแรงช้างสารได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง ถ้าไม่ดูแลรักษาเอาไว้ให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน:ดุริยกวี 5 แผ่นดิน หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)

        กระแสวัฒนธรรมยุคใหม่ที่มาจากสื่อต่างๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในชนบทไทย ทำให้การมองคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนวิถีชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษด้อยค่าลง โรงเรียนบางแห่งในชนบทจึงนำวิถีชีวิตดั้งเดิมเข้ามาเสริมในบทเรียน เพื่อให้นักเรียนภาคภูมิใจกับเอกลักษณ์ของชุมชน
    โรงเรียนบ้านกันตรง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชนบทชาวส่วย หรือกูย คนกลุ่มนี้มาอาศัยอยู่แถบอีสานใต้ กระจายกันอยู่ทั่วไปในเขตพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบจังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นคร ราชสีมา และบางส่วนของจังหวัดมหาสารคาม มีเอกลักษณ์ทั้งภาษาการแต่งกายและวัฒนธรรม โดยมีอาชีพทำการเกษตร ทำนา ปลูกข้าวเป็นหลัก
     เด็กๆ คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้จนอาจจะลืมคุณค่าของสิ่งที่ปู่ย่าตายายสืบทอดกันมา โรงเรียนจึงเกิดหลักสูตรการทำเกษตรแบบพอเพียงให้นักเรียนหัดทำนา โดยมีคุณครูพิเศษคือชาวบ้านและผู้ปกครองเข้ามาสอนลูกหลานตนเอง ความสนุกในการเรียนรู้แฝงไปด้วยความรู้สึกผูกพันกับคนในชุมชนเดียวกัน ด้วยความหวังของ อาจารย์พิณี หาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องการให้เด็กๆ ไม่หลงลืมความเป็นชาวนาของบรรพบุรุษ
แซนหญะจั๊ว (ขอพรให้ท้องนา)

      "เด็กนักเรียนทุกคนเป็นลูกชาวนา ไม่อยากให้ลูกหลานห่างเหินจากท้องนา จึงพยายามขับเคลื่อนเรื่องวัฒน ธรรม ประเพณี ปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิดมาตั้งแต่ปลายปี 2551 ให้เด็กนักเรียนพึ่งตนเองได้ เด็กๆ ทำนาเป็นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาได้คือความร่วมมือร่วมใจของคณะครู นักเรียน และผู้ปกครองที่มาช่วยลูกหลานลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกพืชผัก เป็น การสร้างความมีส่วมร่วมของคนในชุมชน เกื้อกูลช่วยเหลือกันและกัน" อาจารย์พิณีกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: