วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประวัติหลวงศรีนครเตา เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก

ประวัติหลวงศรีนครเตา  เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก




หลังจากเชียงสี นำคณะ ย้ายจาก “บริเวณบ้านธาตุ” ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ไปอยู่ที่บ้าน “กุดหวาย” เอกสารบางแห่งก็ว่าบ้าน “เมืองเตา” บริเวณห้วยแก้ว อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จวบจนราว พ.ศ. 2302 (หรือ 2303 – 2304 ) พระยาช้างเผือกซึ่งเป็นช้างทรงของพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้แตกโรงหนีออกมาทางทิศตะวันออก “เชียงสี” แห่งบ้านกุดหวาย หนึ่งในคณะชาวส่วย (เชียงปุม เชียงไชย เชียงขัน เชียงฆะ เชียงสง เชียงสี) ได้ช่วยกันจับช้างถวายคืนกรุงศรีอยุธยา เมื่อการสำเร็จ หัวหน้าชาวส่วยทั้งหก ได้รับพระราชทานนามยศและปกครองหมู่บ้านเดิมของตน โดย “เชียงสี” เป็น “หลวงศรีนครเตา” หัวหน้าบ้าน “กุดหวาย” ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย และเรียกเมืองเหล่านี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “เขมรป่าดง”


- ราวปี พ.ศ. 2306 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หัวหน้าหมู่บ้าน และยกฐานะ “บ้านกุดหวาย” เป็น “เมืองรัตนบุรี” โดยอาณาเขตของเมืองรัตนบุรี กำหนดดังนี้ (1) ทิศเหนือ จรดเมืองทุ่ง (สุวรรณภูมิ) มีแม่น้ำมูลเป็นเขตแดน (2) ทิศใต้ จรดหลักหินภูดิน ชนเขตแดนเมืองสุรินทร์ (3) ทิศตะวันออก จรดลำห้วยทับทัน (4) ทิศตะวันตก จรดดงแสนตอ (ดงขมิ้น) เขตอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ดังภาพ (แต่ผู้เขียนคาดว่า ด้านทิศตะวันตก น่าจะทอดยาวไปถึงบริเวณที่เรียกว่า ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เพราะกลุ่มคนที่ตำบลเมืองเตา มีประวัติความเป็นมา ความเชื่อเกี่ยวข้องกับ “เจ้าพ่อศรีนครเตา” ด้วย (ความเชื่อเรื่อง เจ้าพ่อศรีนครเตา มีปรากฏทั่วไปตามชุมชนที่ติดลำน้ำมูลและเขตทุ่งกุลา โดยมีการสร้างศาลเจ้า ไว้เคารพบูชา ไม่เฉพาะอำเภอรัตนบุรี เท่านั้น เช่น บ้านเมืองเตา ต.เมืองเตา อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, บ้านเมืองเสือ ต.เมืองเสือ  อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, บ้านหนองบัวเจ้าป่า เทศบาลอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และบ้านไพขลา ต.ไพขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์)  ปี พ.ศ. 2321 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) เป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ (พระอนุชารัชกาลที่ 1) ยกทัพผ่านไปทางเมืองปะทายสมันต์ สังขะ รัตนบุรี ขุขันธ์ เมืองทั้งสี่ ได้จัดกำลังทหารเข้าสมทบ เข้ายึดนครจำปาศักดิ์ และยกทัพขึ้นเหนือตีเมืองเวียงจันทน์
ศึกครั้งนี้ ได้ “พระแก้วมรกต” แต่ในพงศาวดาร ปรากฏการปูนบำเหน็จให้เจ้าเมืองปะทายสมันต์ สังขะ และขุขันธ์ เท่านั้น หลังสงครามครั้งนี้ เมืองรัตนบุรี ไม่ปรากฏในพงศาวดารหรือบันทึกจดหมายเหตุของจังหวัดสุรินทร์เลย (ว่ากันว่า พระราชสาส์นสั่งให้เกณฑ์ไพร่พล เข้าทำศึกใดศึกหนึ่ง (ไม่ปรากฏแน่ชัด) เกิดสูญหายตกหล่นที่เมืองรัตนบุรี และเจ้าเมืองต้องอาญาศึก)
    และอีกบันทึกหนึ่ง มีใจความว่า หลวงศรีนครเตา ต้องพระอาญา เนื่องจากแอบเปิดราชสาส์นลับ(ตามคำออดอ้อนของศรีภรรยา) มีโทษถึงประหาร แต่ท่านได้หนีไปบวชเสียก่อน ที่วัดไพรขลา โดยเปลี่ยนใหม่ชื่อว่า เมื่อย  ท่านบวชอยู่นานจนชาวบ้านรดน้ำให้ท่านเป็น อุปชฌาย์และเรียกสมญาท่านว่า ฌาย์เมื่อย และท่านก็อยู่ในผ้าเหลืองจนวาระสุดท้ายที่วัดบ้านไพรขลานั่นเอง ท่านสิ้นบุญเมื่อปี พ.ศ. 2338 รวมอายุประมาณ 86 ปี
หมายเหตุ:บันทึก จากปากคำของ ปู่แสน ผาจีบ ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2495 รวบรวมโดย นายจรัส ไกรแก้ว
    พระศรีนครเตาท้าวเธอ ได้กล่าวคำสาปไว้ว่า “มันผู้ใด เมื่อมาอยู่เมืองรัตนบุรี หากไม่รักเมืองรัตนบุรี ทุจริตประพฤติมิชอบ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ขอให้มีอันเป็นไป” ชาวอำเภอรัตนบุรี ได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระศรีนครเตาท้าวเธอ ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงผู้สร้างเมืองรัตนบุรีคนแรก ตั้งอยู่ทางด้านขวามือของถนนสายรัตนบุรี-ศรีสะเกษ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2076 เยื้องกับที่ว่าการอำเภอรัตนบุรี และมีการจัดงานสมโภชน์ และไหว้ศาลหลักเมืองรัตนบุรี (ด้านหน้าอนุสาวรีย์ฯ) ในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี (มักจัดตรงกับประเพณีบุญบั้งไฟ ของอำเภอรัตนบุรี) ส่วนงาน “ไหว้เจ้าพ่อศรีนครเตา” นั้น เป็นการจัดงานไหว้เจ้าประจำศาลเจ้า ซึ่งเรียกว่า “เจ้าพ่อศรีนครเตา” ของคนไทยเชื้อสายจีน ในอำเภอรัตนบุรี จัดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี หลังจากงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์


 ปี พ.ศ. 2329 สมัยรัชกาลที่ 1 พื้นที่เมืองรัตนบุรี ส่วนที่เป็นอำเภอชุมพลบุรีและท่าตูม ถูกแบ่งไปขึ้นตรงกับ “เมืองสุรินทร์” และปี พ.ศ. 2435 สมัยรัชกาลที่ 5 เมืองรัตนบุรี ได้กล่าวโทษ เมืองสุรินทร์แย่งชิงเขตแดนเนื่องจากบุตรเจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า ได้นำบัญชีหางว่าวคนที่ บ้านโคกหนองสนม (อำเภอสนม) ไปทำราชการขึ้นตรงกับ “เมืองสุรินทร์” แต่ทางกรุงเทพฯ ให้กลับไปสังกัดเมืองรัตนบุรีตามเดิม ปี พ.ศ. 2439 เมืองรัตนบุรี ถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อจังหวัดบุรีรัมย์ และใน พ.ศ. 2458 อำเภอรัตนบุรี ถูกโอนเข้าเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ จนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ทางราชการได้แบ่งพื้นที่ตั้งกิ่งอำเภอสนม และ วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ทางราชการ ได้แบ่งพื้นที่ตั้งกิ่งอำเภอโนนนารายณ์ แยกจากอำเภอรัตนบุรี ส่งผลให้ “รัตนบุรี” ในปัจจุบัน เหลือพื้นที่อยู่เพียง 12 ตำบล ดังภาพ 


ไม่มีความคิดเห็น: