วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชาวเยอหรือกูยเยอ

ชาวเยอหรือกูยเยอ

การแต่งกายของชาวกูยเยอ
เยอ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ในแง่ของภาษา ภาษาเยอจัดอยู่ในภาษากลุ่มมอญ- เขมร จุดเด่นของชาวเยอก็คือ มีความเหนียวแน่นในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภาษาของกลุ่มชนไว้เป็นอย่างดี  ในหมู่บ้านของชาวเยอแทบทุกหมู่บ้าน จะพูดภาษาเยอ  ชาวลาวหรือคนหมู่บ้านอื่นที่มาตั้งหลักแหล่งในหมู่บ้าน จะเปลี่ยนจากภาษาพูดเดิมของตน มาพูดภาษาเยอ เเละปฏิบัติตามธรรมเนียมเยอด้วย (จากการสัมภาษณ์ ประเสริฐ คำหล้า ผู้นำชาวเยอ เมื่อปี 2542)  การตั้งหมู่บ้านของชาวเยอส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขตลำน้ำหรือลำห้วย เช่น บ้านเมืองคง บ้านท่าโพธิ์ บ้านใหญ่ บ้านกลาง บ้านโนน บ้านฮ่องโสก บ้านหลุบโมก บ้านดอนเรือ บ้านหนองบาก บ้านหว้าน  อำเภอราษีไศล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล  บ้านโนนแกด บ้านขมิ้น อำเภอเมืองศรีสะเกษ   บ้านโพธิ์ศรี ตำบลโนนเพ็ก อำเภอพยุห์  ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มห้วยแอด บ้านปราสาทเยอ บ้านโพนปลัด บ้านเขวา ตำบลปราสาทเยอ  ตั้งที่ราบลุ่มห้วยทา บ้านกุง บ้านวังไฮ บ้านขาม บ้านกลาง บ้านจิก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำเสียว เป็นต้น  ที่น่าสนใจคือชาวเยอในแต่ละหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ  ปกติชาวเยอมีอาชีพทำนา แต่บางส่วนมีความชำนาญในด้านช่าง 
ประวัติความเป็นมา
ตำนานของชาวเยอในศรีสะเกษจะเริ่มต้นที่ พญากตะศิลา เป็นหัวหน้านำคนเผ่าเยอ อพยพมาโดยทางเรือ  มาตั้งเมืองคงโคกหรือเมืองคง ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลในปัจจุบันนี้  เมืองคงอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ  และเป็นเส้นทางคมนาคมในการติดต่อค้าขาย  มูลเหตุของการตั้งชื่อเมืองอาจมาจาก การที่พื้นที่เหล่านี้อาจมีป่ามะม่วงมาก่อนแล้ว  หรือมีการปลูกไม้ผล เช่น ขนุน มะม่วง มะนาว มะพร้าวฯลฯ  ผลไม้ที่ปลูกง่ายและให้ผลเร็ว คือมะม่วง มะม่วงภาษาเยอเรียกว่า      เยาะค็อง หรือ เยาะก็อง ต้นมะม่วงมีอยู่จำนวนมาก จึงเรียกเมืองตัวเองว่าเมืองเยาะค็อง หรือเพี้ยนไปเป็นเมืองคอง – คง ในที่สุด  ปัจจุบันมีรูปปั้นพญากตะศิลาที่เมืองคงโคก บ้านหลุบโมก ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นที่เคารพของชาวเยอ และมีกาบวงสรวงในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี การอพยพของพญากตะศิลา เป็นคำบอกเล่าที่น่าสนใจ เพราะใช้เรือส่วง (เรือยาวที่ใช้แข่ง ) 2 ลำ เรือลำที่ 1 ชื่อ คำผาย เรือลำที่ 2 ชื่อ คำม่วน แต่ลำบรรจุคนได้ 40-50 คน พายจากลำน้ำโขงเข้าปากแม่น้ำมูล  รอนแรมทวนกระแสน้ำขึ้นมาเรื่อยๆ   ผ่านเมืองไหนก็บอกกล่าวเจ้าเมืองนั้นว่าจะไปตั้งเมืองใหม่อยู่ เจ้าเมืองนั้นก็ให้ไปเลือกอยู่ตามที่เห็นเหมาะสม  ถึงบ้านท่า ต.ส้มป่อย  ก็พาไพร่พลแวะพักแรม  รุ่งขึ้นวันใหม่ก็นำพวกออกสำรวจหาพื้นที่ตั้งเมือง  มาเห็นเมืองร้างเป็นเนินดินสูงมีคูน้ำล้อมรอบ  ที่บึงคงโคกทุกวันนี้  เห็นว่ามีสภาพภูมิประเทศเหมาะสม จึงนำไพร่พลตั้งบ้านเรือน  ปัจจุบันที่เมืองคงโคกมีศาล และรูปปั้นของพญากตะศิลา เป็นที่เคารพสักการะบนบานของชาวบ้านเป็นประจำ ต่อมาเมื่อจำนวนพลเมืองเพิ่ม มากขึ้น จึงขยายกันมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่บ้านกลาง  บ้านใหญ่ และบ้านท่าโพธิ์  รวมเรียกว่าเมืองคง   เวลาผ่านไปมีคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  จึงอพยพไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ต่างๆเช่นทิศเหนือที่บ้านหว้าน  ทิศใต้ข้ามลำน้ำมูลที่บ้านค้อเยอ  บ้านขมิ้น  บ้านโนนแกด  อ.เมืองศรีสะเกษ  บางส่วนเลยไปที่บ้านโพนปลัด อ.พยุห์ บ้านปราสาทเยอ บ้านประอาง อ.ไพรบึง ทางทิศตะวันตกไปที่บ้านกุง บ้านเชือก บ้านจิก บ้านขาม  และบางส่วนเลยทุ่งกุลาร้องไห้ไปที่บ้านอีเม้ง บ้านหัวหมู อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : หน้า 35-36)

การนับถือ ศาสนา ของชาวกูยเยอ
เยอ นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่อภูต ผี ประเพณีคล้ายชาวกูย, ลงแขก รำผีฟ้า ผีแถน การละเล่นพื้นเมือง โหวด, ว่าวสะบู แข่งเรือ ศิลปวัฒนธรรม/ภูมิปัญญาช่างทำบ้าน ผ้าไหมมัดหมี่

ภาษาเยอ
เป็นภาษาอยูในตระกูลมอญ-เขมร นัก ภาษาศาสตร์จัดภาษาเยอกับภาษากูยเป็นภาษาเดียวกัน มีการใช้คำศัพท์พื้นฐานร่วมกันมาก แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องเสียงพยัญชนะและเสียงสระ  มีผู้พูดในประเทศไทย 200 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ  ภาษาเยอเป็นภาษาที่อ่อนไหวจากอิทธิพลภาษารอบข้าง  คือภาษาลาวและภาษาเขมรมาก  แต่ละหมู่บ้านเยอ ผู้พูดภาษาเยอจะพูดภาษาเขมร และ ภาษาลาว มีโอกาสทำให้ภาษาเยอสูญสลายได้ ภาษาเยอที่จังหวัดศรีสะเกษ มีพูดกันที่อำเภอต่างๆ ดังนี้ กิ่งอ.ศิลาลาด (บ้านกุง, บ้านขาม); อ.ราษีไศล ( บ้านกลาง (เชือก), บ้านจิก, บ้านหลุบโมก, บ้านดอนเรือ, บ้านบากเรือ, บ้านร่องโศก,บ้านใหญ่, บ้านกลาง, บ้านโนน, บ้านหว้าน); อ.เมืองศรีสะเกษ ( บ้านขมิ้น, บ้านโพนค้อ) และ อ.ไพรบึง(บ้านปราสาทเยอ, บ้านโพนปลัด) มีผู้พูดภาษาเยอคิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรทั้งจังหวัด  

ภาษาเป็นภาษาเดียวกับภาษาส่วย แต่สำเนียงแตกต่าง และเพี้ยนกันไปตามสภาพแวดล้อม บางท่านสรุปว่าภาษาเยอคือ ภาษาส่วยที่ใกล้ชิดกับภาษาลาว ภาษากูยคือภาษาเยอที่ใกล้ชิดกับภาษาเขมร


อาหารชาวกูยเยอ คล้ายกับกูย ในอดีตไม่นิยมกินเนื้อวัว เนื้อควาย





สะไนเครื่องดนตรีของชาวกูยเยอ

สะไน เป็นภาษาเขมรแปลว่า "เขาสัตว์" ถ้าเป็นเขาควายก็จะเรียก "สะไนกะไบ" สะไนที่เป็นเครื่องเป่าของชาวกูยเยอก็ทำจากเขาสัตว์โดยทำจากเขาควายเหมือนกัน เรียกเป็นภาษาเยอว่า "ซั้ง" หรือ "ซั้งไน" การที่ชาวเยอนิยมนำเขาควายมาทำสะไน เนื่องจากเขาควายมีรูลึกตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขา ทำให้เจาะรูจากปลายเขาได้ง่าย ส่วนเขาวัวนั้นรูจากโคนเขาถึงปลายเขาไม่ลึกพอจึงไม่นิยม ตามหลักความเชื่อของชาวกูยเยอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอราษีไศล สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรม หรือกิจกรรมที่สำคัญเท่านั้น เช่น พิธีกรรมบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา การแข่งขันเรือ และเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ (หอยสังข์) ยังไม่นิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือความบันเทิงใดๆ ตามที่ครูเฒ่าเผ่ากูยเยอได้เล่าติดต่อกันมาว่า สะไนเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญมาก

สะไน


สะไนเป็นเครื่องเป่าที่สืบชื้อสายมาจากสังข์ (ในภาษาเยอเรียก ซั้ง "ปรงซั้ง" แปลว่า "เป่าสังข์") ลิ้นของสะไนทำจากไม้ไผ่ ใช้ยางไม้ติดเข้ากับตัวเขา ระหว่างปากลำโพงกับปลายเขา การเคารพบูชาสะไนจะเหมือนกับการเคารพบูชาสังข์ เพราะในอดีตชาวเยอเชื่อกันว่า การเป่าสะไนเป็นการเป่าบูชาสังข์ และเมื่อเป่าสะไนแล้ว เงือก นาค ภูตผีปีศาจ จะไม่มาทำร้ายคน พร้อมกันนี้จะทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแลคุ้มครองรักษาชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย

ในสมัยก่อนเมื่อชาวกูยเยอมีการเดินทางไกลต้องผ่านป่าเขา ถ้าหากเดินทางไปไม่ถึงที่หมายจำเป็นต้องนอนค้างแรมกลางป่าเขา จะต้องเอาสะไนไปด้วย ถ้ายามค่ำคืนก็จะเอาสะไนออกมาเป่า เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีป่าผีเขาให้ช่วยดูแลรักษา ถ้าเป่าสะไนแล้วสัตว์ป่าก็จะไม่กล้ามาทำร้าย ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกันเช่น ส่วยและเขมร จะใช้สะไน เป็นเครื่องเป่าให้สัญญาณเวลาออกไปคล้องช้าง โดยเสียงสะไนที่เป่าแต่ละครั้งหรือแต่ละเสียง จะมีความหมายเป็นที่รู้จักกันในหมู่คณะ
ลักษณะดังกล่าวจึงเหมือนกับเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งของชนเผ่า "กะตู" ในเขตพื้นที่แขวงสาละวัน ประเทศลาว เรียก "ตะโล" เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ แต่ตัดตรงกลางกระบอกไม้ไผ่ เพื่อทำลิ้นเวลาเป่าจะดูดเข้าหรือเป่าออกก็ได้ ใช้เวลาออกจับช้างเพื่อบอกสัญญาณให้เพื่อนรู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นโดยการเป่าแต่ละครั้ง หรือแต่ละแบบก็จะมีความหมายแตกต่างกันไปเช่น เป่าหนึ่งครั้งหมายถึง กำลังเดินหน้า เป่าสองครั้งหมายถึงเรียกมากินข้าว เป่าติดต่อกันหลายๆ ครั้งโดยไม่หยุดหมายถึงกำลังได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

การใช้สะไนของชาวส่วย เขมร และการใช้ตะโล ของชาวกะตู อาจกล่าวได้ว่าเป็นรหัสลับ คนที่จะรู้ความหมายของรหัสนี้ได้ก็ต้องเป็นคนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แต่ในสังคมวัฒนธรรมเยอไม่มีความเกี่ยวข้องกับช้างโดยตรงเหมือนชาวส่วยกับชาวเขมร การใช้สะไนของชาวเยอจึงเป็นเครื่องเป่าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องของการกำเนิด "สังข์" การเป่าสะไนจึงเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ เนื่องจากสะไนเป็นเครื่องเป่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์เท่ากับสังข์ และใช้ลิ้นแบบเดียวกับสังข์ ชาวเยอยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องเป่าว่า ในโลกนี้มีเครื่องเป่าอยู่สามแบบตามความเชื่อของชาวเยอคือ หอยสังข์ มีพระนารายณ์เป็นผู้สร้างถือว่าเป็นเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด รองลงมาคือสังข์นัย (สะไน) เป็นเครื่องเป่าของกลุ่มคนเยอมีความศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหอยสังข์ เนื่องเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายแต่ใช้ลิ้นสังข์ สุดท้ายคือแตรสังข์ (แตรเขาสัตว์) เป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้ลิ้นสังข์ คือเป่าจากปลายเขามักจะใช้เป็นสัญญาณในการสื่อสาร ในการเดินเรือสินค้า ที่มีน้ำไหลเชี่ยวและสายน้ำมีความคดโค้ง จะมีการเป่าแตรสังข์เพื่อไม่ให้เรือชนกัน ชาวเยอมีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับการกำเนิดสังข์ และการกำเนิดสะไนคือเรื่อง นิทานเรื่องพระเจ้าสร้างโลกกับความเป็นมาของสังข์และสะไน

ความเชื่อเกี่ยวกับสะไน

สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่เขตพื้นที่อำเภอราษีไศล เนื่องจากมีความเชื่อว่าสะไนมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกับ สังข์ ที่เป็นเครื่องเป่าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู แม้กระทั่งในสังคมไทยก็นับถือว่า สังข์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระราชพิธีที่สำคัญจะมีการเป่าสังข์ก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าทวยเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นงานมงคลระดับชาวบ้านประชาชนทั่วไป ก็มีการนำสังข์มาประกอบพิธีเช่น การตั้งศาลพระภูมิ การรดน้ำสังข์คู่แต่งงาน เป็นต้น เมื่อชาวเยอมีความเชื่อว่าสะไนกับสังข์มีความเกี่ยวข้องกัน จึงมีการเป่าสะไนเพื่อเป็นการบูชาสังข์ นอกจากนี้แล้วยังมีการนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณีและพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ (ส่วงเรือ) หรือเมื่อมีการเดินทางไกล ก็จะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดโชคเดินทางปลอดภัย และได้รับความสำเร็จในการประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะถ้าเดินทางกลางป่าก็จะนำสะไนติดตัวไปด้วย เพราะชาวเยอเชื่อว่าสัตว์ป่าทั้งหลายถ้าได้ยินเสียงสะไนแล้วจะไม่เข้ามาทำร้าย และถ้าเป่าสะไนจะเป็นการบอกกล่าวให้ทวยเทวดาอารักข์ทั้งหลาย มาปกป้องดูแลไม่ให้เกิดอันตรายใด ในสมัยโบราณมีเรื่องจากผู้เฒ่าเผ่าเยอว่า บรรบุรุพของคนเยอถ้าจำเป็นต้องออกรบทำศึกสงครามกับเมืองไหน จะต้องมีการเป่าสะไนก่อนเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย โดยเชื่อว่าเสียงของสะไนจะทำให้ได้รับชัยชนะกลับมา หรือถ้าหากแพ้ก็จะสามารถหนีเอาตัวรอดกลับมาได้

การเป่าสะไน
ชาวเยอโบราณมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไน และมีฤดูกาลสำหรับการเป่าสะไนไว้ว่า ถ้าจะเป่าสะไนต้องเป่าตั้งแต่เดือน 8 ค้อย (เดือนกรกฎาคมจะเข้าสิงหาคม) จนถึงเดือนอ้ายค้อย (เดือนธันวาคมจะเข้าเดือนมกราคม) ถ้านอกจากระยะเวลาดังกล่าวห้ามเป่าสะไน เพราะมันจะทำให้ "ฝนตก ฟ้าผ่ากลางวัน" หรือเกิดสิ่งไม่ดีต่างๆ ขึ้นในหมู่บ้าน แต่ถ้าเป่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะเป็นการเป่าเพื่อบูชาหอย และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าด้ย ความเชื่อดังกล่าวมักจะพบเห็นในสังคมวัฒนธรรมอีสานทั่วๆ ไป เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากนำมาทำเล่นเพื่อความสนุกสนาน โดยไม่รู้จักกาลเทศะย่อมเป็นสิ่งไม่ดี จึงมีกฎข้อห้ามต่างๆ ไว้

ฉะนั้นการเป่าสะไนจึงต้องเป่าเฉพาะโอกาสที่สำคัญ หรือในยามที่จำเป็นเท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่าสะไนคือเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ของเล่นที่จะนำมาเป่าเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อความสนุกสนาน การเป่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนแปดถึงเดือนอ้ายนั้น มีการให้เหตุผลตามความเชื่อว่า เป็นการเป่าเพื่อบูชาหอย (สังข์) เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่หอยกำลังผสมพันธุ์ ถ้าเป่าในช่วงนี้จะทำให้หอยมีการเจริญพันธุ์และขยายพันธุ์ดี และอีกอย่างการเป่าสะไนจะทำให้ฝนตก หากเป่าในช่วงนี้ก็จะเป็นผลดีต่อพืชพันธุ์น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป่านอกฤดูกาลจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนอ้ายถึงเดือนสาม และช่วงนี้เป็นช่วงที่หอยจำศีลด้วยจึงห้ามเป่าสะไน เสียงของสะไนยังเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ปราบผีได้ หากที่ใดมีคำล่ำลือเกี่ยวกับความดุร้ายหรือความเฮี้ยนของผีสางนางไม้ ถ้าได้เป่าสะไนบริเวณนั้นจะทำให้ผียอมสยบไม่กล้าอาละวาดหลอกใครอีก



การเป่าสะไนถือได้ว่า เป็นการสร้างเสียงเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ โดยเสียงที่สร้างขึ้นไม่ได้มีความหมายตามหลักการของทฤษฎีทางดนตรีแต่อย่างใด (ไม่มีระบบโน้ตที่แน่นอน) แต่เป็นเสียงที่สร้างขึ้นตามลักษณะการพูด เป็นทำนองเพลงสนุกๆ เช่น เอาคักคักเอาคนคักคัก เป็นต้น เสียงการเป่าสะไนเป็นเสียงที่มีความดังเกินตัว (เสียงดังขนาดเล็ก) มนุษย์เมื่อได้พบเจอสิ่งใดที่ดูแล้วหน้าเกรงขาม ย่อมยกย่องให้สิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกว่าดี ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปรากฏการณ์ที่สำคัญยืนยันว่า มันจะนำมาซึ่งความสงบ ความยินดีของตนจริง เรียกว่า ภูมิปัญญา เสียงสะไนจึงเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ ฟังแล้วดูหน้าเกรงขาม เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ แต่เสียงนั้นใหญ่เกินตัวมาก

ปัจจุบันการเป่าสะไนยังคงมีอยู่ที่ศาลพญากตะศิลา เมืองคงโคก บ้านหลุบโมก ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
 (ข้อมูลจากโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และ นายกิตติ วรรณวงษ์ บ้านร่องอโศก หมู่ 15 ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ)
ขอบคุณ:http://www.isangate.com/isan/paothai_kui.html

2 ความคิดเห็น:

Ken Lsv กล่าวว่า...

สวัสดีครับ, ทุกมื้อนี้ยังมีการเป่าสะไนอยู่บ้อครับผม?

Unknown กล่าวว่า...

มีครับ