วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บรรพชนของศรีสะเกษ

บรรพชนของศรีสะเกษ
ชนชาติกวย กูย หรือส่วยสายพันธ์แห่งเผ่าพันธ์  (เรียบเรียงโดย ภราดร  ศรปัญญา)

                ศรีสะเกษ    เป็นจังหวัดที่เก่าแก่   และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ๆ เป็นจังหวัดศรีสะเกษแห่งนี้ เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณแห่งหนึ่งของภาคอีสานและเป็นพื้นที่เข้าใจกันว่าชนชาติกวยหรือส่วยคงจะเป็นบรรพชนเจ้าของพื้นที่มาตั้งแต่ดั้งเดิมและเป็นผู้สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มืว่าในพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษจะยังไม่มีการขุดค้นหรือศึกษาโครงสร้างด้านมนุษยวิทยาและการตั้งหลักแหล่งอย่างจริงจังก็ตาม แต่ก็พออนุมานได้ว่า ชาวส่วยหรือชาวกวยน่าจะเป็นบรรพชนของคนศรีสะเกษ  ทั้งนี้เพราะจังหวัดศรีสะเกษมีหมู่บ้านหรือชุมชนที่ชาวกวยหรือที่เรียกกันว่า “ชาวส่วย” มากกว่าจังหวัดใดใดในภาคอีสาน

                ชาวกวยหรือชาวส่วยเป็นใคร? มาจากไหน? จึงเป็นเรื่องน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง นักประวัติศาสตร์และนักมนุษยวิทยาสันนิษฐานว่าชาติกูยนั้นเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาในตระกูลมอญ เขมร มีเลือดผสมระหว่างเวดดิด (veddid) กับเมลาเนียมซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามลักษณะพื้นที่ เช่น ชาวลาว ในประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเรียกว่า “ข่า” ชาวไทยสยามเรียกว่า “ส่วย” หรือกลุ่มแถบล้านนาเรียกว่า “ลัวะหรือละว้า” เป็นต้น ส่วนลักษณะโครงสร้างทางภาษามีส่วนคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากกับภาษามุนด้า (Munda) ซึ่งเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยมีอาชีพอยู่ตามลุ่มน้ำพรหมบุตรตอนเหนือแถบแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย


                บาสตินและเบนด้า (Bastin and Benda) (1968:2) กล่าวว่า ชนชาติกวยมีภูมิลำเนาเดิมอยู่บริเวณลุ่มน้ำพรหมบุตรตอนเหนือ ประมาณ 2400 ปีก่อนพุทธกาล ชาวกูยได้อพยพหนีภัยสงครามเนื่องจากถูกพวกอารยันรุกรานโดยอพยพมาทางตะวันออกจนถึงลุ่มแม่น้ำคง (สาละวิน) และแม่น้ำโขงตอนบน พวกที่อพยพไปทางลุ่มน้ำคงได้กลายเป็นชนเผ่ามอญ ส่วนพวกที่อพยพลงมาตามลุ่มน้ำโขง บางพวกไปอาศัยอยู่ตามที่ราบสูงพนมดงแร็ก (ตองแหระ บางพูดว่าตองแผระ ในภาษาส่วยซึ่งแปลว่าไม้คานหรือคานสำหรับแบกหาม) บางพวกเลยลงไปถึงที่ราบต่ำบริเวณทะเลสาบและชายทะเล  ต่อมาต่อมาได้กลายเป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือแขมร์ ส่วนพวกตั้งหลักแหล่งอยู่ตามป่าเขามักจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ลั้ว ข่า ขมู กวยหรือส่วย  นอกจากนี้ยังมีหลักฐานระบุไว้ชัดเจนว่า กลุ่มชนเหล่านี้มีถิ่นที่อยู่กระจัดกระจายทั่วไป ตลอดแนวสองฟากฝั่งลุ่มน้ำโขง แม่น้ำมูล และมีการรวมกลุ่มกันเป็นบ้านเมืองมมานานนับศตวรรษก่อนที่ชนเผ่าไทยจะเข้ามามีอำนาจในบริเวรแถบนี้

                หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ พงศาวดารล้านช้าง กล่าวว่า “ในปี 2103 สมเด็จพระไชยเชษฐิราชต้องทำการปราบปรามพวกข่า และชนเผ่าต่างๆ ที่สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่แถวฝั่งแม่น้ำโขงทางใต้นครเวียงจันทร์และในที่สุดพระองค์ได้หายสาบสูไปในคราวยกกองทัพไปปราบปรามพวกข่า ในแขวงอัตบือ (ศรีศักดิ์  วัลลิโภดม 2533:35-36) พงศาวดารเมืองละแวกครั้งหนึ่งกล่าวว่า กษัตริย์ขอม ซึ่งครองอยู่พระนครหลวงได้ส่งฑูตไปขอกองทัพจากกษัตริย์กวยแห่งตะบองขะมุม เพื่อไปปราบกบฏ ซึ่งกษัตริย์กวยก็ได้ยกทัพไปช่วยรบจนได้ชัยชนะ

                สำหรับหลักฐานฝ่ายไทย สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ตรากฏหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. 1974 (ปีกุน) ประกาศให้คนสยามห้ามยกลูกสาวให้ชาวฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา กับปิตัน กุลา มลายู แขก กวย และแกว ซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างศาสนาที่ย่อมแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชนชาติกวยที่มีความเป็นปึกแผ่น และมีการจัดการระบบปกครองเป็นประเทศหรือนครรัฐแล้ว ซึ่งอาจเคยรุ่งเรืองมาก่อนอาณาจักรฟูนัน จาม หรือแม้กระทั่งอาณาจักเจนละเสียด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากระยะเวลาอันยาวนาน โครงกระดูกและหลักฐานต่างๆ จึงสับสนไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นชนเผ่าใดจวบกับการสูญเสียอิสระภาพและการตกอยู่ใต้อำนาจของชนชาติอื่นอารยะธรรมและวัฒนธรรมได้ถูกทำลายไปหรือไม่ก็ถูกบดกลืนโดยวัฒนธรรมของผู้ชนะ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ข้อมูลหรือประวัติความเป็นมาของชนชาติกวยจึงเหลือน้อยเต็มที่ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเพียง “ภาษา” ที่พูดจากันเพียงอย่างเดียว
ที่มา:http://goo.gl/NA6nUx

ไม่มีความคิดเห็น: