วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การฟ้อนสะเอิง,แกลสะเอง,แกลจะเอง ของชาวไทยกูย


             การฟ้อนสะเอิงของชาวไทยกูย

       ชาวไทยกูยบ้านกระแซงใหญ่ มีจักรวาลความเชื่อแบบ พราหมณ์ - พุทธ - ผี ความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ เป็นรากฐานความเชื่อที่นำไปสู่กระบวนการประกอบพิธี กรรม ความหมายทางวัฒนธรรม ของพิธีกรรมการฟ้อนสะเอิงจึงเป็นกระบวนที่สืบเนื่อง สัมพันธ์กันใน บริบททางสังคมชาวไทยกูย พิธีกรรมการฟ้อนสะเอิง เป็นพิธีกรรมที่ชาวไทยกูย ทำการเข้าทรงผีฟ้า หรือผีสะเอิง เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติ ด้วยวิทยาการแพทย์ แผนปัจจุบัน และเมื่อหายจากอาการเจ็บป่วยต้องทำการเข้าทรง เพื่อสักการะขอบคุณผีสะเอิง บทบาทของพิธีกรรมนั้น พบว่ามีบทบาทที่สำคัญ 3 ประการ ต่อสังคมชาวไทยกูยคือ บทบาทในการ ควบคุมทางสังคม บทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ ของกลุ่มคนในสังคม และสร้างกำลังใจในการ ดำรงชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง

พิธีกรรมแกลสะเอง
        การแกลสะเองนั้นเป็นการรำถวายแถนหรือผีฟ้า(สะเอง) มีจุดมุ่งหมาย การรำคือ ตัวผู้ป่วยได้บนบานแถนเอาไว้ และบรรพบุรุษนับถือแถนแล้วจัดการแกลจะเองขึ้นเพื่อถวาย แถนให้ปกปักรักษาคุ้มครอง บางแห่งเรียกว่า แกลจะเอง รำสะเอิง ชะเอง รำนางออ แกลสะเองเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวศรีสะเกษทีมีเชื้อสายกูย มาจากความเชื่อในการ พึ่งพาสิ่งลี้ลับของธรรมชาติในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะวิญญาณของบรรพบุรุษ เทวดาที่อยู่บนฟ้า เพื่อขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาปกปักรักษา ผ่านร่างทรงของแม่สะเองหรือการแก้บนที่ทำไว้เมื่อยาม เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อมีเหตุสำคัญ ที่ต้องอาศัยกำลังใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวกูยจะมีเชื้อสะเอง(กรูสะเอง)แฝงอยู่ในร่างกาย และยกให้เป็นมรดกตกทอด ซึ่งมีตกแก่ลูกสาวคนโตของครอบครัวไปเป็นทอดๆ แกลจะเองมักกระทำในเดือนสามเพราะพืชผลในไร่นาเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพที่จัดงานเตรียมพร้อม โดยการบอกเหล่าญาติพี่น้องทั้งใกล้และไกลมารวมกัน ตามวันที่กำหนด จัดทำปะรำพิธี ชั้นวางเครื่องเซ่นไหว้ เก็บดอก จำปา (ลั่นทม) มาร้อยมาลัย ถ้าไม่มีก็ใช้ดอกจานแทน เตรียมด้าย ใบตองกล้วย ทำขันบักเบ็ง และกรวยดอกไม้ เทียนเหลือง เทียนขาว ข้าวตอกแตก บางแห่งมีเครื่องยกครูที่จัดไว้ในปะรำพิธี เรียกว่า เสาโฮง (เสาบายมือ) ที่ประกอบไปด้วย ข้าวต้มมัด ฝ้าย กล้วยน้ำว้า ผ้าไหม ข้าวสาร เงิน 12 บาท สุราขาว 1 ขวด ธูป เทียน กรวย 32 กรวย พานหมาก พลู บุหรี่ น้ำหอม ครกใส่ใบเกดข้าวตอกดอกไม้พิธีเล่นจะเองเริ่มจากเจ้าภาพนำดอกจำปาหรือดอกจานคู่หนึ่งใส่พาน หรือขัน ไปเชิญกรูสะเองที่เป็นแม่ทรงแม่สะเอง แม่สะเองบริวารของแม่ทรง 5 - 9 คน และมือฆ้องอีก 1 คน มือกลอง 1-3 คน บางแห่งอาจมีแคน ฉิ่ง ฉาบด้วย การรำจะเริ่ม โดยแม่ครูบนบาน บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางไม่ให้มีอุปสรรคขัดขวาง ในการพิธีการรำจะเริ่มโดยแม่ครูบนบานบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ไม่ให้มีอุปสรรคขัดขวางในการทำพิธี การทำพิธีนั้นจะอัญเชิญแถนให้เข้ามาสู่ร่างกาย และมาสู่แม่ฟ้อน (นางรำ) คนอื่นๆโดยแม่สะเองถือขันภายในมีข้าวสาร เงิน เทียนเหลืองห่อหนึ่งและจุดเทียนขาวคู่หนึ่ง เมื่อผีเข้าทรง ร่างแม่ทรงก็สั่นทั้งตัว มือที่ถือขันสั่นกระตุก จนเทียนดับ ขันหลุดมือ ข้าวสารหกกระจาย ขณะที่กลอง ฆ้อง ก็เริ่มบรรเลง เมื่อเข้าทรงเสร็จแล้วก็รำพร้อมกันไปตามจังหวะและมีแม่ครูเป็นคนร้องนำ แล้วคนอื่นๆ ก็จะร้องตามรำเอนอ้อม ปะรำพิธี รำไปจนกว่าแถนจะออกจึงเลิกรำกันไปเอง มีการพักเพื่อรับประทานอาหารว่างระหว่างการแกลจะเองด้วย


      เมื่อฟ้อนรำไปได้ระยะหนึ่งบรรดาแม่สะเองก็ใช้ด้ายที่แขวนบนชั้น มาทัดหูและนำมาลัยดอกจำปาหรือมาลัยดอกจานมาสวม มือกลอง มือฆ้องก็สวมมาลัยดอกไม้เช่นเดียวกัน ในบางแห่งผีบรรพบุรุษ จะมาเข้าทรงในร่างของแม่สะเองทีละคน เริ่มจาก ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลอาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และญาติที่ล่วงลับไปแล้วจนครบทุกคน เมื่อเข้ามาอยู่ในร่างทรงแล้ว จะทักถามลูกหลาน ลูกหลานก็ถามข่าวคราวของผีแถนและผีบรรพบุรุษ อดีตชาติของผีบรรพบุรุษเคยแสดงอย่างไร ก็ปรากฏอย่างนั้น เช่น เสียงห้าว เสียงแหลม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมากพลู ผีแถน และผีบรรพบุรุษจะทักท้วงสาเหตุที่ลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะกระทำผิดหรือล่วงเกินอันใด ลูกหลานจะต้องขอขมา อาหารหารมาเลี้ยงเป็นราย ๆ ไป บางครั้งแถนที่เข้าทรงแม่สะเองที่อ่อนแอขี้โรค สามารถดื่มเหล้าได้มาก โดยไม่มีอาการเมามาย หรือสามารถสูบบุหรี่ ที่มีพริกแห่งสอดไส้ได้โดยไม่จามในการรำนั้น เพื่อความเป็นระเบียบสวยงามนิยมให้สวมใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน มีผ้าพาดบ่าเรียกว่า ผ้าแพรแฮ มีพวงมาลัย ที่ร้อยด้วยดอกจำปา (ลั่นทม) มาคล้องคอ หรือสวมศีรษะด้วย มีแม่ครูเป็นผู้ร้อง และรำไปด้วย การร้องบูชาแถนนั้นเป็นคำอ้อนวอนที่ขอให้ผู้ป่วยหายป่วย เร็ว ๆ เรียกขวัญให้กลับมาสู่ร่างกาย ความเจ็บอย่าให้ได้ความไข้อย่าให้มี พิธีกรรมนี้สะท้อนให้เห็น ถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้าน ปลูกฝังคุณธรรม ให้ลูกหลานรู้จักเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ปฏิบัติตามประเพณีที่ดีงาม
ขอบคุณ:http://www.oknation.net/blog/kanthararoom/2013/03/18/entry-1
        การฟ้อนสะเอิงของชาวไทยกูย:กนกวรรณ ระลึก

ไม่มีความคิดเห็น: