วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ผีปู่ตา : ยะจั๊วะ

ผีปู่ตา : ยะจั๊วะ

ชาวไทยกูย  เป็นชนพื้นเมืองเดิมอันมีเลือดผสมระหว่างเวดดิก ( Veddic )  และเมลานีเซียน ( Melanesian )  นับเนื่องอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับพวกข่า  เดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบเขาพนมดงรัก  มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เรียกว่ายะจั๊วะ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ
  1. 1. ยะจั๊วะเพรียม ( ผีปู่ตา )
  2. 2. ยะจี๊วะ ( ผีบรรพบุรุษในสายตระกูล 

แซนหยะจั๊วะ
ขอบคุณภาพ:http://news.sanook.com/1993418/

ยะจั๊วะเพรียมหรือยะจั๊วะปืด

ชาวไทยกูยหมายถึง  ผีอารักษ์ประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะปลูกศาลไว้  เช่น ที่บ้านตรึม ปลูกศาลไม้ไว้ข้างๆ โพรงตะกวด  โดยให้เหตุผลว่าตะกวด ซึ่งแทนผีปู่ตาเหล่านี้ไม่ชอบศาลปูนซีเมนต์  ศาลดังกล่าวซึ่งอยู่มุมหนึ่งของหมู่บ้าน  กรณีที่บ้านสำโรงทาบซึ่งไม่มีตะกวด  แต่ก็มีศาลยะจั๊วะประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3  ของทุกปี  จะมีการเซ่นสรวง เรียกว่า   แซนยะจั๊วะ  เพื่อขอบคุณ  ที่ได้ให้ผลผลิตจากการทำนาทำไร่และให้ข้าวแก่ยุ้งฉาง
ณ บ้านตรึม  บ้านแตล  และอื่นๆ บางหมู่บ้านในเขตอำเภอศีขรภูมิ  จะมีต้นไม้ใหญ่เป็นโพรงสำหรับตะกวดอาศัยอยู่ อย่างเช่น บ้านตรึม มีต้นมะขามใหญ่  มีศาลยะจั๊วะอยู่ใต้ต้นนี้  ชาวบ้านถือว่าตะกวดมีอิทธิพลมาก บาวทีก็ทำให้ฝนไม่ตก หากชาวบ้านประพฤติตนไม่ดีงาม  หรือมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในหมู่บ้าน  ตอนเช้าตะกวดจะออกจากโพรงเดินเพ่นพ่านหากินกบ เขียด คางคก ลูกไก่ หรือ ไข่ไก่ ตามหมู่บ้าน บางทีก็ขึ้นบนบ้าน  ช่วงเที่ยงก็กลับมานอน ครั้นบ่ายก็ออกไปอีก  ตกกลางคืนจะนอนนิ่งเงียบภายในโพรงไม้  ต้นไม้ที่มีตะกวดอาศัยอยู่จะมีนกกระสาฝูงใหญ่มาอยู่พึ่งพากัน  และต้นไม้อื่นๆ ก็ปรากฏมีกระรอกกระแตมาอาศัยอยู่ในต้นไม้ภายในหมู่บ้าน  ชาวบ้านรักสัตว์เหล่านี้  จะไม่แตะต้องสัตว์ที่เป็นเพื่อนของปู่ตา (ตะกวด) สรรพนามที่เรียกตะกวด คือ “เขา”  หรือพ่อ “พ่อเฒ่า”  แม้เวลาที่เห็นและจับได้ว่าตะกวดกินลูกไก่ ก็จะไม่ตี จะไล่ให้ไปที่อื่นและไม่กล่าวคำหยาบต่อตะกวดเหล่านั้น

การทำนายฝนฟ้า

ทั้งเดือน 3  เดือน  6  และเดือน  8  จะมีการเซ่นยะจั๊วะเพรียม  โดยที่จุดหมายอยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์   เนื่องจากฝนฟ้าช่วยเสริมการเกษตร  สำหรับชาวไทยกูยที่มิได้เลี้ยงช้างแต่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก
การประกอบพิธีจะกระทำในเวลาเช้ามืด  ณ  บริเวณยะจั๊วะตั้งอยู่  เครื่องเซ่นประกอบด้วยข้าว 1 จาน  ไก่ต้ม  1 ตัว น้ำ 1 แก้ว  เหล้า 1 ขวด  หมาก-พลู  2 คำ  บุหรี่  2 มวน  ข้าวเปลือก  1 ถ้วย  และเงิน  12  บาท  ในตอนเช้ามืดของวันที่จะประกอบพิธี  ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นดังกล่าวออกไปที่ยะจั๊วะเพรียม  ซึ่งอยู่นอกหมู่บ้าน (มักใช้บริเวณสถานที่ตั้งหมู่บ้านนั้น ๆ ครั้งแรก)  ผู้ทำพิธีเรียกว่า  “เฒ่าจำ”  หลังจากบนบานบอกกล่าวแล้ว  ก็จะวางเครื่องเซ่นไว้ที่ศาล  แล้วทำพิธีเสี่ยงทายโดยถอดกระดูกคางไก่ตัวที่เป็นเครื่องเซ่นออกมาดู  เพื่อทำนายฝนฟ้าและน้ำท่าในปีนั้น  ถ้าคางไก่เหยียดตรง  ทำนายว่าปีนั้นฝนจะตกน้อย   น้ำน้อยคือฝนแล้ง  แห้งแล้งมาก  เนื่องจากไก่แหงนคอดูฟ้า  คอยดูว่าเมื่อใดฝนจะตก   จึงทำให้กระดูกคางไก่ตั้งตรง  ถ้าคางไก่โค้งลง  ทำนายว่าฝนจะตกอุดมสมบูรณ์  เพราะไก่ก้มลงกินน้ำและหากินตามปกติ  จึงทำให้กระดูกไก่โค้งงอลง  เมื่อการทำนายเสร็จสิ้นชาวบ้านจะยึดถือเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปรับปรุงการทำนาเก็บสะสมพืชพันธุ์ธัญญาหาร  เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่อไป  ซึ่งพบว่าในอดีตหมู่บ้านเหล่านี้เคยใช้เต่าไปเซ่นแทนไก่  ในเดือน 3 เช่นเดียวกับแถบหมู่บ้านที่นับถือตะกวด  เพราะเต่าคือสัญลักษณ์ของน้ำและฝนนั่นเอง
ยะจั๊วดุง  เป็นผีบรรพบุรุษในสายตระกูลชาวไทยกูยแถวหมู่บ้านที่ไม่มีตะกวด   เช่น  สำโรงทาบ  และบ้านอื่น ๆ ใน อ.สำโรงทาบ  บ้านหนองสมบูรณ์  และบ้านอื่น ๆ ใน  อ.กาบเชิงหรือสังขะ  จะเน้นและให้ความสำคัญยะจั๊วะดุงมากกว่ายะจั๊วะเพรียม  เพราะถือว่ายะจั๊วะดุงเป็นผู้คอยดูแลความเป็นไปในครอบครัว  และเครือญาติในสายตระกูลให้อยู่อย่างปกติสุข  ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทยกูยเหล่านี้บอกว่า “เกิดมาก็เห็นหมอนใบหนึ่งวางอยู่ตรงมุมหนึ่งของห้องที่เป็นบ้านยะจั๊วะ (โคตรใหญ่)  แล้วเมื่อพ่อแม่ปฏิบัติอย่างไรรุ่นลูกรุ่นหลานก็ปฏิบัติอย่างนั้นเป็นธรรมเนียมมาจนปัจจุบัน  “แต่ที่หมู่บ้าน  ตรึม  แตล หัวแรด  อ.ศรีขรภูมิ  ที่มีตะกวดแทนผีปู่ตานั้น  ให้ความสำคัญแก่ยะจั๊วะดุงค่อนข้างน้อย
ชาวไทยกูยจะผูกพันกับยะจั๊วะ  ไม่ว่าการเกิด  การตาย  การแต่งงาน  การบวช  หรือแม้แต่การทะเลาะเบาะแว้งกันในวงศ์เครือญาติ  หรือการประพฤติผิดศีลของคนในตระกูล  จะมีการเสี่ยงทายหาสาเหตุ  หากพบว่าเป็นการกระทำของยะจั๊วะ  ทุกคนก็จะยอมรับว่ามีผู้กระทำผิดจารีตบ้านยะจั๊วะ  ยะจั๊วะจะหายโกรธและยอมให้อภัย
โดยเฉพาะการแต่งงาน  เมื่อสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้าน  จำต้องทำพิธีเซาะดุง (ขึ้นบ้าน) ที่บ้านยะจั๊วะก่อน  จึงจะถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวโดยสมบูรณ์   หากยังไม่ได้ทำพิธีเซาะดุง  สะใภ้คนนั้นก็ไม่มีสิทธิ์จะขึ้นบ้านยะจั๊วะ  แต่ถ้าหากปีใดมีการแต่งสะใภ้เข้ามาในสายตระกูลเกิน 2 คน  ก็จะทำพิธีเซาะดุงได้  เพียงสะใภ้คนเดียว  ส่วนคนต่อไปก็จะมาทำพิธีในปีถัดไป  เพราะหากทำในปีเดียวกัน  จะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นสะใภ้มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง

การใช้สัตว์หรือชื่อสัตว์เป็นสัญลักษณ์แทนผีปู่ตา

แม้ชาวไทยกูยในจังหวัดสุรินทร์จะไม่รู้ว่ายะจั๊วะอยู่ที่ใด  มีตัวตนหรือไม่  แต่เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นในครอบครัวเครือญาติในสายตระกูล  ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะดีหรือร้ายประการใด  ทุกคนก็ให้ความสำคัญ และเคารพยำเกรงยะจั๊วะเสมอ  โดยผ่านทางญาติผู้ใหญ่ที่เรียกว่าโคตรปืด หรือสมมุติสัตว์หรือชื่อสัตว์  เช่น ตะกวดที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้  หรือป่าทึบ  เต่าที่อาศัยในน้ำหรือด้านถักใยแมงมุมที่แขวนอยู่รอบศาลที่ประทับของยะจั๊วะดุง  หรือผีบรรพบุรุษในบ้านของโคตรใหญ่ในสายตระกูล  ก็เพื่อเป็นการสื่อระหว่างบุคคลในสายตระกูลกับผีบรรพบุรุษ หรือบุคคลในหมู่บ้านกับผีบรรพบุรุษ  เพราะจะพบว่า  การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ  (ยะจั๊วะ) หรือผีปู่ตา  โดยโคตรใหญ่ในสายตระกูลหรือเต่าประจำหมู่บ้าน  สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า  มนุษย์สามารถติดต่อกับผีบรรพบุรุษตลอดจนสิ่งเหนือธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้  และสถานที่หวงห้ามซึ่งให้คุณและให้โทษแก่คนในชุมชน
กูยช้าง-กูยตะกวด เป็นแบบอย่าง  ที่น่าศึกษาด้านการรักษาระบบนิเวศวิทยาและการปลูกฝังความเชื่อ-ค่านิยมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ที่น่าทึ่งและเหมาะสมในสภาวการณ์โลกในปัจจุบัน
ขอบคุณ-http://www.oknation.net/blog/kradandum/2008/11/06/entry-3

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฉิกกะแจ หรือ ผ้าขิด ของชาวกูย

ฉิกกะแจ หรือ ผ้าขิด ของชาวกูย
     ขิดกูยเป็นขิดอีกชนิดที่งดงามโดดเด่น เป็น เอกลักษณ์ แต่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปน้อย  ชาวกูย-กวย ในหลายท้องถิ่นมีทักษะฝีมือในการทอผ้าขิด แต่ในบางท้องถิ่นทักษะนี้อาจลืมเลือนหรือเป็นที่นิยมน้อย            
 ขิดกูยในแต่ละท้องถิ่นนั้นอาจมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน แต่จะมีอัตลักษณ์ร่วมคือโครงสร้างลวดลายที่คล้ายคลึงกัน คือนิยมลวดลายประเภทขอและกาบ โดยเฉพาะขอขนาดใหญ่ซึ่งมักพบเห็นได้บ่อยครั้งในขิดกูยลายโบราณ ลายที่พบบ่อยได้แก่ลาย ขอใหญ่ กาบใหญ่  กาบซ้อนขอ ขอซ้อนกาบ ขอเครือ ของ่า ขอนอน ขอก่าย  ขอสบไถ ดอกมะเขือ ฟันปลา กะปู ช่อดอกหมาก ลูกหวาย  และขิดกาบน้อย เป็นต้น



       ขิดกูยลักษณะในภาพนี้ นับเป็นขิดกูยที่มีความงามโดดเด่น  สามารถพบได้ในบริเวณ แถบ อ.สำโรงทาบ อ.ศีขรภูมิ  อ.ท่าตูม อ.จอมพระ  จ.สุรินทร์ และ อ.ห้วยทับทัน อ.ปรางค์กู่  อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

        ขิดกูยลักษณะนี้ใช้การทอด้วยเทคนิคการเก็บลายแบบทิ้งไม้ ไม่ได้ใส่เขาหรือตะกอในการช่วยเก็บลาย ภาษากูยเรียกว่า “ตอจเลีย”  จึงทำให้ต้องใช้ทักษะการทอมากเป็นพิเศษ และใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งในการเก็บลาย วันหนึ่งสามารถทอได้ประมาณหนึ่งคืบ ผืนหนึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาหฺ์ ในการทอ ซึ่งนับว่าใช้เวลาทอนานกว่าผ้าขิดทั่วไป



      ปัจจุบัน เหลือช่างที่มีทักษะความสามารถ ในการทอขิดกูยลายโบราณ ได้น้อยคน เนื่องจากต้องใช้ทักษะในการทอและความเพียรมากเป็นพิเศษ  แต่ยังพบเห็นการทอขิดกูยได้ในหลายหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้การเก็บลายใส่ในเขาหรือตะกอ เพื่อให้สะดวกในการทอ แต่มีขอจำกัดคือไม่สามารถทอได้หลากหลายลวดลาย และลวดลายมีขนาดเล็ก

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก:เฟสบุ้ค คุณ กชกร เวียงคำ

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฉิก กะเนียว กูย,กวย

                 ฉิก กะเนียว กูย,กวย


สำหรับผู้ชายนุ่งเวลาไปคล้องช้าง


     ดร.สนอง สุขแสวง ในชุดฉิกกะเนียว


    ส่วนผู้หญิงจะต่อตีนซิ่น(หยี่ง กะบูร์)


ผืนนี้กว่าจะทอเป็นผืนได้ต้องปั่นเส้นไหม2เส้น2สี รวมเป็นเส้นเดียว
 ผืนนี้ทอ2เส้น เส้นหนึ่ง ปั่นไหมสีเหลืองทองและสีเขียวรวมเป็นเส้นเดียว
อีกเส้นปั่นไหมสีเหลืองทองและสีแดงรวมเป็นเส้นเดียว
เรียกกรรมวิธีนี้ว่า ระหวี่ โซ๊ด
ใช้เวลานานและความมุ่งมั่นตั้งใจสูงกว่าจะทอเสร็จแต่ละผืน


สุดยอดช่างทอชาวกูยกวยจริงๆ
ขอบคุณภาพและข้อมูล:เฟสบุ้ค คุณ ณษา สุขแสวง

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไทกวย กูย ในจังหวัดนครราชสีมา


ไทกวย กูย ในจังหวัดนครราชสีมา
ชาวกวย (กูย, ส่วย) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เพื่อตั้งหลักแหล่งทำมาหากินบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดบุรีรัมย์ คือ
อำเภอห้วยแถลง
- ตำบลห้วยแถลง-บ้านแสนสุข บ้านสันติสุข บ้านห้วยปอ บ้านพลวงทอง
-ตำบลตะโก -หมู่9 บ้านสี่แยก
-ตำบลกงรถ-หมู่7 บ้านโคกแค
ชาวกวย กูยเหล่านี้อพยพมาประมาณ ๙๐-๑๐๐ ปีที่แล้ว ยังรักษาความเป็นวัฒนธรรมแบบกวย กูย คือ การทอผ้า ภาษา ที่อยู่อาศัยชาวกวย กูย ในจังหวัดสุรินทร์ ยังคงเลี้ยงช้างกันเป็นจำนวนมาก
และนอกจากนั้นในท้องที่อื่นๆ ก็มีชาวกูยอาศัยอยู่พอสมควรเช่นกัน เช่นที่

อำเภอเสิงสาง 2 หมู่บ้าน
-ตำบลกุดโบสต์-บ้านหนองม่วง
-ตำบลสุขไพบูลย์-บ้านดงอีจานใหญ่

อำเภอขามสะแกแสง 1 หมู่บ้าน
-ตำบลพะงาด-บ้านหนองไอ้เผือก
ขอบคุณภาพจาก:เพจเฟสบุ้ค อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทกวย กูย

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560

บวชนาคช้าง


เอื้อเฟื้อภาพโดย ดร.สนอง สุขแสวง

  ประเทศไทยของเรานั้น เป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมและประเพณีที่มีอยู่อย่างมากมายและหลากหลาย โดยแต่ละประเพณีนั้นก็ต่างมีความงดงามของขนบธรรมเนียมและพิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป และบางประเพณีก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะและไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ประเพณีบวชนาคช้าง” ประเพณีพื้นบ้านของชนชาวกวย กูย อันขึ้นชื่อของจังหวัดสุรินทร์


บวชนาคช้าง
ขอบคุณ:เฟสบุ้คอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย กวยกูย


    บวชนาคช้าง ไม่ได้มีความหมาย ว่าช้างบวช แต่หมายถึง ชายหนุ่มเมื่อถึงวัยบวช จะบวชเพื่อทดแทนคุณของพ่อแม่หรือสืบต่อพระพุทธศาสนา ก็แล้วแต่ แต่จะมีพิเศษกว่าพิธีของที่อื่นคือ เมื่อแห่นาคเข้าโบสถ์ นาคจะขี่หลังช้างตั้งแต่ขบวนแห่ จนกว่าจะถึงโบสถ์

ขอบคุณ:เพจอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ไทย กวย กูย

          “ประเพณีบวชนาคช้าง” นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีเอกลักษณ์ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ประเพณีบวชนาคช้างนั้นเป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวกูย หรือ ชาวกวย ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง ที่ได้สืบทอดวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และที่บ้านตากลางแห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักของผู้คนในชื่อ “หมู่บ้านช้าง” นั่นเอง


       ไม่เฉพาะที่บ้านตากลาง ชาว กูย กวย หลายท้องที่ แม้ไม่ได้เลี้ยงช้าง แต่บรรพบุรุษเดิมก็เลี้ยงเช่นกัน ก็ยังคงรักษาประเพณีบวชนาคช้างเหมือนกัน


        นับได้ว่าประเพณีบวชนาคช้างนั้น เป็นประเพณีที่มีทั้งความสวยงามและยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถชมได้ที่ไหน โดยเฉพาะในช่วงเวลาของขบวนแห่ที่ต้องมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งหนึ่ง และคู่ควรกับการอนุรักษ์รักษาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นประเพณีพื้นบ้านอันงดงามที่บรรพบุรุษสร้างไว้
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก;
 เพจเฟสบุ้ค ศิลปะวัฒนธรรมชาวกวย/กูย https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1430294693656286&id=478429002176198