วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หมู่บ้านกูย บ้านตากลาง หมู่บ้านช้างสุรินทร์

หมู่บ้านกูย บ้านตากลาง  หมู่บ้านช้างสุรินทร์
สุรินทร์ . . . ถิ่นช้างใหญ่
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๔๕๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม - โอร์เสม็ด เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางท่องเที่ยว ติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน
จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เดิมเคยมีชุมชนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไว้จนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๒๖๐ ชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า กวย หรือ กูย ซึ่งอาศัยอยู่แถบเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งานเป็นอย่างมาก ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านเมืองลีง (อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์) บ้านโคกลำดวน (อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) บ้านอัจจะปะนึ่ง (อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์) และบ้านกุดปะไท (อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์) โดยแต่ละบ้านจะมีหัวหน้าควบคุมอยู่ จนกระทั่งประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๐๐ บรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ คือ เชียงปุม กับพวก ได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์จับช้างเผือกแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา นำน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้รับบำเหน็จความชอบโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็น หลวงสุรินทรภักดี
ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖ หลวงสุรินทรภักดี หรือ เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้ เจ้าเมืองพิมาย กราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จากสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ ๒ ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดี ได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็นเมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดีเป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็น เมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองเมืองสุรินทร์
สุรินทร์


จังหวัดสุรินทร์มีความเป็นมาได้ก่อร่างสร้างเมืองเกี่ยวเนื่องกับช้าง เป็นจังหวัดที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย คนสุรินทร์เลี้ยงช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว จึงมีวิถีชีวิต มีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงช้างในจังหวัดอื่น ๆ ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นมงคล เฉลียวฉลาด ชื่อสัตย์ อดทน กล้าหาญ ในอดีตช้างเคยเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ในการทำศึกสงคราม ในปัจจุบันช้างเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศในนาม “สุรินทร์ เมืองช้าง” มีงานแสดงช้างสุรินทร์เป็นงานประจำปีของชาติ มีหมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง และเป็นที่อาศัยของกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ที่เรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้าง ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้างมาแต่ดั้งเดิม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักในนาม “หมู่บ้านช้าง” ในอาณาบริเวณเขตตำบลกระโพมีช้างรวมกันอยู่ประมาณ ๓๐๐ เชือก


บ้านตากลาง...ถิ่นช้างเมืองสุรินทร์
หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๔ เส้นทางสายสุรินทร์ – ร้อยเอ็ด เลี้ยวซ้ายเมื่อถึง กม. ๓๖ เข้าปากทางบ้านกระโพ ลึกเข้าไปตามถนนลาดยางบนที่ราบใกล้แม่น้ำมูล และลำห้วยน้ำชี ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ก็จะถึงเขตหมู่บ้านช้าง พื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านช้างส่วนใหญ่จะเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกลับป่าโป่ง อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นป่าดงดิบสายทอ ทิศตะวันตกเป็นป่าดงดิบภูดิน ทิศเหนือของหมู่บ้านมีแม่น้ำ ๒ สายไหลมาบรรจบกัน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง บริเวณนี้จึงเหมาะสมกับการเลี้ยงช้างอย่างที่สุด

ชาวกวยเป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีมายาวนาน รักสงบ รักอิสระ มีความสามัคคี เป็นคนมีระเบียบวินัย มีเอกภาพในสังคม มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คือความอลังการอันน่าอัศจรรย์ ผสมผสานระหว่างคนกับช้าง

ก่อนปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ชาวกวยที่นี่จะมีอาชีพหลักคือ จับช้างป่ามาฝึกหัดไว้ใช้งาน ส่วนการทำนาจะทำเป็นอาชีพรอง คือทำเพียงแค่พออยู่พอกิน ในอดีตชาวกวยจะออกไปจับช้างปีละ ๒ – ๓ ครั้ง ๆ ละ ๒ – ๓ เดือน ซึ่งส่วนมากมักจะเดินทางไปจับในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา

หลังจากปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาและลาวได้ปิดพรมแดนลง ชาวกวยที่มี่อาชีพหลักคือ การจับช้างป่า ไม่สามารถไปจับช้างป่าเหมือนในอดีตได้ ก็หันมาทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงช้างอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข ช้างและคนได้อยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น การเลี้ยงช้างของชาวบ้านบ้านตากลางเป็นการเลี้ยงในลักษณะที่ช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน คนกับช้างมีความรักใคร่ผูกพันรู้จิตใจกันดังญาติสนิท แตกต่างจากการเลี้ยงช้างที่อื่นซึ่งเป็นเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน

ปัจจุบันแม้ชาวบ้านตากลางจะไม่ไปจับช้างแล้ว แต่ยังมีหมอช้างที่สืบทอดภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์อยู่ ผู้ที่ต้องการศึกษา เรียนรู้ ท่องเที่ยว สามารถพบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ ในการจับช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา ชีวิตของหมอช้างเป็นชีวิตที่ต้องมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง ชาวบ้านตากลางเป็นผู้มีความสงบเสงี่ยมสำรวม พูดน้อย ถ้าได้สนทนาด้วยแล้วจะทราบว่าเขาคือนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ บ้านตากลางยังเป็นสถานที่ฝึกช้างสำหรับแสดงในงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์เป็นประจำทุกปี และบ้านตากลางยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์คชศึกษา” พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับช้าง ภายใต้ศูนย์มีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง เช่น ทำจากเชือกประกำ เชือกคล้องช้างที่ทำจากหนังควาย ฯลฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ และช่วงที่น่าไปเยี่ยมหมู่บ้านช้างมากที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคมเพราะควาญช้างจะกลับมาเก็บเกี่ยวข้าว และนำช้างมาร่วมงานแสดงของจังหวัด ซึ่งจะมีช้างกลับมาอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก



ไม่มีความคิดเห็น: