วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กูยบ้านตรึม อ.ศีขรภูมิ

กูยบ้านตรึม อ.ศีขรภูมิ
บ้านตรึม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ จากบันทึกการเดินทางในลาวภาคสอง พ.ศ. ๒๔๔๐ ของเอเตียน แอร์มอนิเยร์ นักสำรวจชาวฟรั่งเศษที่เดินทางเข้ามาสำรวจหาศิลาจารึกในภาคอีสานขณะนั้นบันทึกว่า "...สรกตรัมมีกระท่อมของคนเผ่ากูยเมโล(มะหลั่ว) อยู่ ๑๐๐ กว่าหลัง..." ในขณะที่ปัจจุบันเป็นชุมชนหมู่บ้านชาวกูยขนาดใหญ่จนชาวกูยบริเวณนั้นเรียกว่า "เซาะผืด"  หรือบ้านใหญ่มีครอบครัวชาวกูยอาศัยอยู่ราว ๓๔๐ หลังคาเรือน แบ่งเขตการปกครองเป็น ๒ หมู่ คือ หมู่ ๑ และ หมู่ ๑๖ มีประชากรประมาณ ๒,๐๐๐ คน จากการบอกเล่าของชาวกูยบ้านตรึมสืบต่อกันมาว่า เดิมอาศัยอยู่บ้านกู่ อ.ปรางกู่ จ.ศรีสะเกษ อพยพมาอยู่ที่ปัจจุับันเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว
         บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเรียกว่า "เนินโคกคราม" สภาพพื้นที่เป็นป่าทึบติดต่อกันกว้างใหญ่ มีหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เช่น เก้ง กวาง หมูป่า สุนัขจิ้งจอก สัตว์เลื้อยคลานประเภท เต่า ตะกวด และนกป่านานาชนิด เช่น นกกระสา นกเป็ดน้ำ เป็นต้น
         หมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอศีขรภูมิ ห่างจากตัวอำเภอราว ๑๘ กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นพื้นที่สูงลาดไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก มีหนองน้ำธรรมชาติสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบารายที่กักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภคของชุมชน
         บริเวณที่เป็นเนินดินขนาดใหญ่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอารยธรรมเก่าแก่ถูกฝังจมกองดินกระจัดกระจายจำนวนมากคือ ใบเสมาหินขนาดกว่าง ๘๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑๓๐ เซนติเมตร หนา ๒๙ เซนติเมตร เสมาหินเหล่านี้เป็นโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ซึ่งชาวบ้านได้เคลื่อนย้ายมาตั้งกองรวมกันไว้ภายในวัด สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นที่ใช้ปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ครั้นพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาจึงถูกดัดเเปลงให้เป็นเสมา ใช้ปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา ภายหลังจึงถูกนำมาปักเป็นหลักบ้านทำหลังคาคลุมเป็นที่เซ่นสรวงบวงพลีกราบไหว้บูชาของชุมชนสืบต่อมา

ความคิดความเชื่อของชาวกูยบ้านตรึมในยุคโลกาภิวัฒน์
         ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ดั้งเดิมของหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่าชาวบ้านตรึมมีคติความเชื่อในการนับถือหมูป่าเป็น "อาหยะ"หรือหยะจั๊วะ   หรือผีประจำหมู่บ้าน เมื่อออกไปล่าสัตว์ได้หมูป่าและสัตว์อื่นๆ จะตัดหูมาไว้ที่บ้านเฒ่าจ้ำ คือ หัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมาหมูป่าถูกล่าจนหมดป่า แล้วจึงเกิดภัยแล้งขึ้น ชาวบ้านจึงร่วมกันทำพิธีทรงเจ้าหาสาเหตุจึงรู้ว่าผีประจำหมู่บ้านไม่พอใจและหนีกลับไปปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเดิม อยู่ในร่างตะกวด ชาวบ้านขณะนั้นจึงขอให้หัวหน้าหมู่บ้านไปรับตะกวดกลับมา
         นับตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านตรึมจึงนับถือตะกวดเป็นตัวแทนอาหยะ คือ ผีปู่ตา หรือผีประจำหมู่บ้าน ตะกวดจึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เสมือนบรรพบุรุษชาวบ้านตรึมไม่ทำร้ายและไม่กินตะกวด
         ชาวกูยบ้านตรึมยังใช้ลูกตะกวดที่เกิดในปลายฤดูหนาวมาใช้ในการเสี่ยงทาย ทำนายฝนฟ้าจากปล้องสีที่ห่างลูกตะกวด หากสีเหลืองเป็นปล้องยาวนั่นหมายความว่าในปีนั่นฝนฟ้าจะแล้ง
         อีกหนึ่งในคติความเชื่อของชาวกูยบ้านตรึม คือ "พิธีแกลมอ" เป็นพิธีที่สืบเนื่องจากความเชื่อว่า ชาวกูยทุกคนมีดวงวิญญาณของบรรพบุรุษคอยปกป้องคุ้มครอง ปกปักษ์รักษาอยู่ตลอดเวลา ในทุกๆปี ชาวกูยจะจัดให้มีพิธี "แกลมอ" เพื่อบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจ ซึ่งพิธีแกลมอมีสาระสำคัญ ๓ ประการ คือ
         ๑) การบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ
         ๒) ประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วย เป็นการเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือแนะนำผ่านเฒ่าจ้ำหรือคนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วยและหาทางรักษาตามความเชื่อ
         ๓) การประกอบพิธีกรรมเพื่อเป็นการแก้บน หรือสักการะตอบแทนดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ดลบันดาลให้ได้รับความสำเร็จตามคำขอของลูกหลาน
         ภายใต้กระแสยุคโลกาภิวัฒน์ พิธีกรรมแกลมอ เป็นพิธีกรรมที่ส่งผลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขของคนในชุมชนโดยผู้นำประกอบพิธีกรรม หรือแม่หมอทำหน้าที่ในการอัญเชิญดวงวิญญาณประทับร่าง มี แคน กลอง เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะในการร่ายรำประกอบพิธีด้วยนางรำตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีเครื่องบวงสรวงเซ่นสังเวย ๑ ชุด  ประกอบด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ พานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียน เงิน ทอง เหล้า บุหรี่ หมากพลู ชุดขันธ์ ๕ ดาบ ๑ เล่ม ไข่ไก่ ๑ ฟอง ข้าวสาร และเครื่องประกอบอื่นๆ
         พิธีกรรมเริ่มด้วยการอัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษเข้ามาประทับร่างแม่หมอ หรือคนทรง แม่หมอจะโยกสั่นไปทั้งร่าง จากนั้นลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีผูกข้อมือให้แม่หมอพร้อมแจ้งความประสงค์ที่ได้อัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาเข้าทรง จากนั้นแม่หมอหรือคนทรงจะดื่มกินเครื่องเซ่นสังเวย ก่อนจะลุกขึ้นฟ้อนรำไปรอบเครื่องสักการะ ผู้ร่วมอยู่ในพิธีก็มีอาการเข้าทรงตัวสั่นตามกัน จนคนที่อยู่ใกล้ๆ เอาได้มาผูกข้อมือรับ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวก็จะลุกขึ้นฟ้อนรำเช่นเดียวกับแม่หมออย่างเอาจริงเอาจัง กินเวลานานข้ามวันข้ามคืน
แกลมอ กูยบ้านตรึม อ.ศรีขรภูมิ

บทสรุป
 ชุมชนชาวกูยบ้านตรึมเป็นชุมชนใหญ่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ยาวนาน สืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน สะท้อนความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ วิถีชิวิตกลุ่มชาติพันธุ์กูย ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ รากเหง้าทางวัฒนธรรม ดำรงอยู่ภายใต้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่มีความแตกแยกทางสังคม มั่นคงยั่งยืน สืบทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบพอเพียง เป็นแบบอย่างในการดำรงอยู่ของสังคมประเทศชาติได้อย่างเหมาะสม มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น ลาว เขมร จีน ไทย ยอมรับในกติกาทางสังคม สะท้อนออกจากพิธีกรรมการแกลมอ เคารพในธรรมชาติด้วยการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้สัตว์ประจำชุมชน ตลอดจนความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน ปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างเหมาะสมเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณ;http://www.oknation.net/blog/surin-samosorn/2010/05/26/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น: