วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านม่วงหวาน ชุมชนกูยบุรีรัมย์

ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์
   “ชีวิตของชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง...โดยจะเน้นในเรื่องการใช้ชีวิต ทุกบ้านจะมีแปลงผักของตัวเอง จะเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา มีสระน้ำไว้ใช้ เรื่องอบายมุขก็มีน้อย...เรียบเรียงโดย ไกรศักดิ์ ศรีพนม

แนวทางการพัฒนาชุมชนที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแนวทางหนึ่งก็คือการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เน้นการเติบโตพ้อมกันในทุกๆด้านอย่างสอดคล้องและสมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
แนวทางดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนไปพร้อมๆกับการสร้างความมั่นคงในเรื่องปาท้องของคนในชุมชนดังตัวอย่างที่เกิดขึ้น ณ บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมของชาวไทย “กูย” เป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ
บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 14 และ หมู่ 15 ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นชุมชนชาวไทยกูยดั้งเดิมซึ่งอพยพมาจากบ้านเฉนียงและบ้านโงนกรอย ต.บึง อ.เมือง จ.สุรินทร์ มาตั้งแต่ปี 2494 โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า มีชาวบ้านจาก ๑๐ ครอบครัว ประมาณ ๗๐ คน ได้ออกเดินทางมาด้วยกันเพื่อหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่จนกระทั่งมาเจอพื้นที่ว่างข้างหนองน้ำบ้านแพงพวย ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคกมะม่วงหวาน” ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านกลุ่มนั้นจึงตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ร่วมกันสืบมาจนถึงทุกวันนี้
ในยุคแรกของการเดินทางเข้ามาตั้งรกราก ชุมชนแห่งนี้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของบ้านแพงพวย จนกระทั่งปี 2510 จึงได้แยกตัวออกมาตั้งเป็นบ้านม่วงหวานและต่อมาปี 2533 จึงแยกออกมาเป็นบ้านโคกเจริญอีกหนึ่งหมู่บ้าน แต่ด้วยความผูกพันของทั้งสองหมู่บ้านที่มีมานานจึงทำให้ทั้งสองหมู่บ้านยังคงร่วมมือร่วมใจกันทำกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านด้วยกันภายใต้ชื่อ บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ มาโดยตลอด
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านม่วงหวาน


ประเพณีวัฒนธรรมคือทุนสำคัญของชุมชน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดโคกเจริญเป็นศูนย์กลางความศรัทธาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมไปถึงการสืบสานความเชื่อและประเพณีที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดอาทิเช่น การเซ่นไหว้ปู่ตาประจำหมู่บ้าน, การแซนโดนตา, พิธีแต่งงานแบบพื้นบ้าน, การบวชนาค สำหรับผู้อาวุโสในชุมชนแห่งนี้ยังคงใช้ภาษากูยในการสนทนาพูดคุยเป็นหลักและมีความพยายามที่จะถ่ายทอดมายังลูกหลานในชุมชนโดยการรณรงค์ให้พ่อแม่พูดภาษากูยกับลูก

พ่อทองคำ แจ่มใส ผู้ใหญ่บ้านโคกเจริญ แกนนำคนสำคัญของชุมชนเล่าว่า “ชุมชนชาวกูยที่นี่ก่อตัวและเชื่อมร้อยกันอย่างเหนียวแน่นบนฐานวัฒนธรรมของชนเผ่า จึงทำให้คนในชุมชนมีความเคารพซึ่งกันและกัน รู้รักสามัคคี และนับถือคนเฒ่าคนแก่รวมทั้งผู้นำระดับต่าง ๆ ในชุมชน ยิ่งไปกว่านั้นการที่เป็นชุมชนอพยพเล็ก ๆ ท่ามกลางชนกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เขมร ลาวดังนั้นคนในชุมชนจึงเลือกที่จะแต่งงานกันเองภายในกลุ่มเครือญาติถือว่าเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติของคนในชุมชนให้เหนียวแน่นขึ้นไปอีก”
ขอบคุณ:http://www.esaanvoice.net/

ไม่มีความคิดเห็น: