วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ลงแขก ประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกัน

ลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด คนไทยในสมัยนี้รู้จักคำว่า ลงแขก ในความหมายที่เป็นการกระทำผิดอาญา แต่สำหรับคนอีสานแล้ว ลงแขก มีความหมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ในการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว ประเพณีเอามื้อเอาแรงนี้จึงเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคี ทำให้งานเสร็จอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยการว่าจ้าง และยังถือเป็นโอกาสที่ทำให้หนุ่มสาวได้รู้จักอุปนิสัยใจคอและพบรักกันได้อีก ด้วย

ลงแขกดำนา

เนื่องจากชีวิตของเกษตรกรไทยเกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก ณ จุดนี่เองที่ก่อให้เกิดประเพณี ลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทนมีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน

ลงแขกเกี่ยวข้าว

เมื่อเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาสู่ชุมชนพร้อมกับการส่งเสริมให้มีการปลูกเพื่อขาย ยุคเศรษฐกิจเงินตราเป็นใหญ่จึงทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอดีต กลายมาเป็นการว่าจ้างแรงงานแทน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่าง การลงแขก จึงพลอยสูญหายไปด้วย และยิ่งมาถึงยุคสมัยที่ลูกหลานวัยรุ่น หนุ่ม-สาวของเราหนีความแห้งแล้งไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ การทำไร่ไถนาของบรรพบุรุษก็ยิ่งขาดแคลนแรงงานหนัก ก็ได้อาศัยเงินทองที่ลูกหลานส่งมาให้มาจ้างแรงงานในหมู่บ้านใกล้เคียงมาช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้การลงแขกถูกลืมเลือนเด็ดขาดไปเลย เพราะการช่วยงานต้องมีค่าจ้างตอบแทน เลี้ยงข้าวปลาอาหารอีก นี่จึงต้องมีการฟื้นฟูและกล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การลงแขก ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง


แหล่งที่มาของข้อมูล :http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=6566&s=tblrice

ไม่มีความคิดเห็น: