วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประวัติชาว กูย จังหวัดพิจิตร

ประวัติชาว กูย หรือส่วย บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร 



   นางเมิ้ง สีมาจันทร์ อยู่บ้านเลขที่ ๓๑/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เล่าว่า เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๗ ณ จังหวัดสุรินทร์ เกิดฝนแล้ง ไม่มีน้ำประกอบอาชีพการเกษตรเลี้ยงครอบครัว นายวา นายมล บุราคอน พร้อมลูก ๕ คน จึงได้อพยพครอบครัวเดินทางมาทางทิศตะวันตกเพื่อ มาหาญาติที่หมู่บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร และมาถึงบริเวณหมู่บ้านยางตะพาย ซึ่งขณะนั้นเป็นป่าดงดิบยังไม่มีใครจับจอง ที่ทำกิน จึงได้ช่วยกัน ถ่างป่า เพื่อใช้พื้นที่ทำนาเลี้ยงชีพ พอมีเงินจึงได้ไปเช่ากระบือ มาใช้ไถนา ต่อมามีผู้ย้ายมาอยู่บริเวณนี้ จำนวน ๓ ครัวเรือน เห็นว่าที่ทำกินอุดมสมบูรณ์จึงได้กลับไปชักชวนญาติที่อยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ มาจับจองที่ทำกิน จนกระทั้งมีบุตรหลาน ประมาณ ๑๓๐ หลังคาเรือนแล้วในปัจจุบัน ลักษณะทางสังคม ชาวกูยหมู่บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร มีลักษณะทางสังคมแบบสังคมชนบท และเกษตร เช่นเดียวกับไทยพื้นเมือง ไทยทรงดำ และ ไทยอีสาน ประกอบอาชีพทางการเกษตร ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว นับถือผู้อาวุโสกว่าบิดามารดา เป็นผู้ปกครองบุตร และผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว ซึ่งกูยจะมีความแตกต่างตรงที่ มีความมุ่งมั่น และเป็นตัวของตัวเองสูง ยึดมั่นในความเชื่อ และขยันประกอบอาชีพ ฉลาด วิถีชีวิตของชาวกูย มีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกันกับไทยพื้นเมืองพิจิตร เนื่องจาก สภาพทางสังคม อาชีพ และภูมิศาสตร์ ส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ในแต่ละวัน ก็ไปทำนา ทำไร่ ตกเย็นก็กลับบ้านพักผ่อน ยามว่างจากการทำนา ทำไร่ ก็จะรับจ้าง หรือทำงานในเมืองใหญ่ และให้ความร่วมมือในการส่งเสริมพัฒนาชุมชนเป็นอย่างดี
ขอบคุณ:ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: