วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สารานุกรมชนชาติกูย

สารานุกรมชนชาติกูย 

(encyclopedia of kui)


                                                            เรียบเรียงโดย สมทรง บุรุษพัฒน์

  ชาวกูย หรือที่คนไทยทั่วไปเรียกว่า “ส่วย”เป็นกลุ่มชนที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอาศัยอยู่หนาแน่นในจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอุบลราชธานี ตามลำดับ และยังปรากฏอยู่ประปรายในจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี ชายกูยในประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณเกือบ ๓ แสนคน ส่วนใหญ่อาศัยปะปนอยู่ในชุมชนชาวเขมรและลาว จึงทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมเข้ากับชนกลุ่มอื่น จนยากที่จะจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ชาวกูยเหล่านนี้มีวิถีชีวิตเหมือนชาวไทยอีสานทั่วไป คนหนุ่มสาวมักจะอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง ๆ นายจ้างจะไม่พบความแตกต่างของชนกลุ่มนี้จากชาวไทยอีสานกลุ่มอื่น ๆ ที่ทำงานอยู่ด้วยกัน นอกจากภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเป็นสิ่งที่แยกชนชาวกูยออกจากกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่น ๆ

ปัจจุบันชาวกูยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นับได้ว่าเป็นประชากรกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่ยังต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิตดังเช่นชาวไทยในชนบททั่วไป บุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรที่จะได้มีความรู้เกี่ยวกับชนชาติกูยอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาจจะกล่าวได้ว่าชนชาติกูยกำลังสูญเสียลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ประจำกลุ่ม ดังนั้นวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งของการจัดทำสารานุกรมฉบับนี้ก็เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เป็นลักษณะเฉพาะประจำกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ภาษา การแต่งกาย ความเชื่อ พิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น มาบันทึกไว้เพื่อรักษาเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของชนกลุ่มนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกระแสของธรรมชาติและกาลเวลา


ชาติพันธุ์ และ ความหมาย 
                กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ เรียกตนเองว่า กูย กุย โกย หรือ กวย ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะการออกเสียงของแต่ละถิ่นและพบว่าตำราที่เขียนเป็นภาษาต่างประเทศที่เขียนแตกต่างกันตามวิธีคิดของผู้แต่งตำราแต่ละคนเช่นเดียวกัน เช่น เขียนว่า kuy,kui,koui,kouei,และ kouai

                ถึงแม้ชนพื้นเมืองจะออกเสียงสระแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น ชนพื้นเมืองต่างก็ให้ความหมายของคำว่า กูย กุย กวย หรือ โกย ไว้อย่างมีเอกภาพ คือมีความหมายว่า “คน” ทั้งสิ้น การให้ความหมายไว้ลักษณะดังกล่าวนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นความเป็นสากล หรือฐานคติของทัศนะการมองโลกของมนุษย์ในปริบทของวัฒนธรรมต่างว่า กลุ่มของตนเองนั้น มีสถานภาพที่แตกต่างจากสัตว์ และมีความเท่าเทียมกันกับมนุษย์ในปริบทของวัฒนธรรมอื่น ๆ เสมอ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชนกลุ่มนี้ นักภาษาศาสตร์และนักชาติพันธุ์วิทยาในประเทศไทยจึงเสนอให้ใช้คำว่า “กูย”เพียงคำเดียว

                ส่วนคำว่า ส่วย นั้น เป็นคำที่บัญญัติขึ้นมานอกเหนือปริบทของวัฒนธรรมกูย ซึ่งชาวกูยเองไม่ค่อยจะยอมรับชื่อนี้เท่าใดนัก สารานุกรมเล่มนี้จึงขอสนับสนุนให้ผู้อ่านใช้คำว่า กูย เพื่อเป็นมนสิการต่อเกียรติภูมิของกลุ่มชาติพันธุ์ มีประวัติศาสตร์ของตนเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก/http://www.watpracharangsan.com/articles/535645/

ไม่มีความคิดเห็น: