วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

การสร้างคน สร้างความรู้ : กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ.

การสร้างคน สร้างความรู้ : กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ

“พืชผัก ต้นไม้ เป็นทรัพย์สิน ผืนนาผืนดินเป็นกระดาษ
จอบเสียมเป็นปากกา บ่อน้ำเป็นน้ำหมึก ( บัญชีชีวิต  ตำบลจันดุม)”

ประวัติความเป็นมาชุมชนบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ 
          บ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ ตั้งอยู่หมูที่ 8 และหมูที่ 15 ต.จันดุม อ,พลับพลาชัย จ.บุรีรมย์ เป็นชุมชนชาวกูย (ส่วย) ดั้งเดิม ที่อพยพมาจากบ้านเฉนียงและบ้านละโงนกรอย ต.บึง อ.เมือง    จ.สุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยชาวบ้าน 10 ครอบครัวประมาณ 70 คน ส่วนมากเป็นคนในตระกูลสายบุตร,สังเกตกิจและแจ่มใส ออกเดินทางมาด้วยกันเพื่อก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ เพราะพื้นที่เดิมประสบปัญหาแห้งแล้วโจรผู้ร้ายปล้นสะดม จนมาตั้งในพื้นที่บ้านม่วงหวาน และ บ้านโคกเจริญ แต่ด้วยความผูกพันร่วมกันทั้ง2 หมู่บ้านยังคงร่วมกันในการทำกิจกรรมมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มออมทรัพย์การพัฒนาชุมชนเชื่อมโยงสู่การสร้างกิจกรรมอื่นๆ
            ปลายปี พ.ศ. 2529 สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่สนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ล้มเหลวการดำเนินงานของกลุ่มชาวนาทำให้คนในชุมชนเกิดการถกเถียงพูดคุยถึงความเหมาะสม และความพร้อมของชุมชนในการจัดตั้งกลุ่มอีก

       
  ผู้นำในชุมชนนำโดย นายแทน นายทองคำ นายเอกสิทธิ์ นายบุญชูและนายสง่า ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เนื่องจากพัฒนาการที่ลงไปเสริมในขณะนั้น คือนายทาด อาวุธพันธ์  ได้นำไปศึกษาดูงานและนำไปแลกเปลี่ยนกับองค์กรชุมชนที่ดำเนินการประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่  จึงมีความเชื่อว่าการดำเนินการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เป็นเรื่องที่ดีมีความเป็นไปได้  สามารถสร้างแหล่งทุนให้กับคนในชุมชน ส่งเสริมนิสัยการออมส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง โดยเบื้องต้นมีวิธีการหาสมาชิกเพิ่มโดยวิธีการเชิญชวนญาติๆให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก และใช้ในโอกาสต่างๆประชาสัมพันธ์คนในชุมชนให้เข้ามามีส่วร่วมไปด้วย โดยเริ่มต้นมีสมาชิก 77 คน มีเงินออมทรัพย์ เดือนละ 850 บาท และมีการเจริญเติบโตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน สัมพันธ์กับการจัดระบบทุนทางสังคม
ทุนทางสังคมสายสัมพันธ์ บ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ
          ความสำเร็จกองทุนออมทรพย์เพื่อการผลิตฯ ปัจจัยหนึ่งคือ ทุนทางสังคม ที่ชุมชนเกิดจากฐานวัฒนธรรมเดียวกัน ระบบเกื้อหนุนของคนในชุมชน โดยสามารถประมวลได้คือ

วัฒนธรรมความเป็นชุมชนกูย เป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมคนในชุมชนเกิดความสัมพันธ์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การมองเห็นประโยชน์ร่วมกันถือเป็นฐานวัฒนธรรมกูยที่มีความใกล้เคียงกัน
การมีต้นแบบในการปฏิบัติ ( Role Model) นำมาสู่การพัฒนาแกนนำต้นแบบขยายผลสู่ครอบครัวต้นแบบ ในชุมชนที่เกิดความสัมพันธ์เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ชุมชน และยังขยายผลมาสู่แนวการปฎิบัติที่เกิดการถ่ายทอดในครอบครัวดังกล่าว
ระบบเครือญาติในชุมชน เป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นคุณค่าในชุมชนเกิดการจัดระบบความสัมพันธ์เป็นทุนหนึ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ที่นำมาพัฒนากระบวนการการทำงานได้มากขึ้น (การเชื่อมให้เกิดระบบเครือญาติต่อเครือญาติเป็นเครือข่ายทางสังคม)
 ในการเชื่อมโยงดังกล่าว  ถือเป็นฐานทุนทางสังคมที่ปรากฏเด่นชัดที่สะท้อนจาก บ้านม่วงหวาน-โคกเจริญและเกิดความสัมพันธ์ระบบการพัฒนาคน

วิธีการพัฒนาคนพัฒนางานเส้นทางสู่ความสำเร็จบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ
 1.   ใช้กิจกรรมทางสังคมเครื่องมือในการพัฒนาคน วิธีการนี้เป็นกระบวนการหนึ่งโดยการนำกิจกรรมมาเป็นการดึงคนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมดำเนินการ อาทิ กิจกรรมกลุ่มออมทรรัพย์เพื่อการผลิต เป็นการดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน โดยนำเงินเข้ามามีส่วนร่วมมาร้อยรัดให้ได้มีการดำเนินการมากขึ้น  ดังนั้นกิจกรรมทางสังคมจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนาคน  ดังกำนันสง่า ทองคำ ได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพกระบวนการ
“ เมื่อก่อนเราไปซื้อขนมจีนมาทำในงาน บางทีครั้งละหลายร้อยกิโลเลยในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง แต่ตอนนี้เรามีกลุ่มทำขนมจีนขึ้นคนมาลงทุนร่วมกัน คนมาช่วยกันมากขึ้น ทำให้เราได้ลงมือทำ และช่วยกันคิด”
 2.   ปรับแนวคิดใหม่ สร้างสำนึกร่วมเพื่อพัฒนาคน  การปลูกฝังประวัติศาสตร์สร้างวัฒนธรรมความเป็นกูยเพื่อสร้างจิตสำนักคนในชุมชน ในเรื่องการให้และเกิดรูปแบบจิตอาสา เมื่อให้คุณค่าในวัฒนธรรมตนเองจะส่งผลสู่เรื่องสำนึกร่วมการเสียสละและการให้ของสมาชิกในชุมชน ส่งผลสู่การพัฒนาเป็นแกนนำหรือการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น

 3.   พัฒนาคนพัฒนาศักยภาพทีมงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างคนให้รู้เท่าทันทั้งการเปลี่ยนแปลงกระแสโลกหรือกระแสต่างๆที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมของชุมชน โดยกระบวนการหนุนเสริมจากทีมภายนอกในการเข้ามาให้ความรู้  หรือ “การศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่เพื่อนอื่น” จัดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน เกิดการเรียนรู้ และสามารถปรับประยุกต์ใช้ของแกนนำได้ ทั้งในการบริหารจัดการ หรือการถ่ายทอดความรู้ต่อ

 4.   จากผู้ร่วมให้เป็นผู้ทำ จากผู้นำเป็นผู้หนุน รูปแบบหนึ่งที่กลุ่มได้ดำเนินการแล้วคือ การให้แกนนำเข้ามาตัดสินใจร่วม และพัฒนาให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น  รูปแบบดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาคนคือ ให้สามารถคิดวิเคราะห์ได้ ทำเป็น รวมถึงคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงาน เป็นขึ้นหนึ่งในการพัฒนาคนที่ได้ผลเป็นอย่างมา อาทิ คุณอ้อย แจ่มใส เป็นเหรัญญิกของกลุ่ม ได้กล่าวว่า “ที่นี่เรามีวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่างที่สำคัญคือ เราให้ทุกคนมีส่วนร่วม ผู้ใหญ่จะให้เราเข้ามาและพัฒนาเราเรื่อยให้เราเข้ามา เราก็ภูมิใจนะที่เราได้ทำได้ช่วย ไม่ต้องมีใครบอกเรารู้ว่าเรามีคุณค่าเราก็ทำ”

 5.      สร้างระบบความคิดสร้างความเชื่อร่วมกัน เพื่อเป็นนักออกแบบและวิเคราะห์  ภายใต้กลไกรูปแบบหากทำอะไรต้องมีการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีการประชุมหารือเพื่อโปรดโอกาสให้ทุกคนเสนอความคิดเห็น ระบบการคิดและวิเคราะห์ กระบวนการดังกล่าวจะพบนักออกแบบและวิเคราะห์ เพราะใช้กระบวนการมีส่วนร่วม  แต่ภายใต้ความคิดความเชื่อร่วมกัน  คือการทำงานเพื่อชุมชนของตนเอง จึงเป็นเครื่องนำพาไปสู่เป้าหมายเป็นต้น

6. จากแกนนำ สู่ครอบครัว “ธรรมนูญครอบครัว”  จากแกนนำขยายผลสู่สมาชิกสร้างความดีร่วมกัน การสร้างคนประการหนึ่งคือการนำหลักการมาสู่การประพฤติปฏิบัติโดยอาศัยแบบต้นแบบคือ ตัวแกนนำ กรรมการ หรือสมาชิก และเกิดการขยายผลไปสู่การทำจริงในระดับครอบครัว ครัวเรือน  รวมถึงสมาชิกอื่นๆในสังคม เป็นการสร้างคนแบบมีส่วนร่วม เมื่อเริ่มจากแกนนำ ครอบครัว และจะขยายผลไปยังสมาชิดต่อไป  จะสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนได้

 ผลการสร้างคนเพื่อพัฒนางาน
 จากรูปแบบการสร้างคนของบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ จึงทำให้เกิดผลที่เป็นระบบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนและเป็นระบบ ดัง สง่า  ทองคำ กล่าวว่า “การพัฒนาคนนั้นนอกจากที่เราได้คนขึ้นมาเพื่อการพัฒนาแล้ว ยังได้ความรู้ทั้งของเราและที่เราไปฝึกเขา ว่าไปว่ามายังได้แผนไปทำข้างหน้าด้วย  อีกอย่างหนึ่งหากแกนนำได้ความคิดความเชื่อความเข้าใจ  ยังเป็นต้นแบบกลับไปทำที่ครอบครัวด้วย ดังนั้นไม่เฉพาะแกนนำและยังมีครอบยครัวแกนนำเครือญาติแกนนำ เป็นโครงข่ายทางสังคมไม่มีที่สิ้นสุด”   ดังนั้นกระบวนการพัฒนาคนจึงไม่ได้เฉพาะคนเท่านั้น ยังรวมถึงระบบการโยงใยของชุมชน สังคม และทุนทางสังคมที่เข้ามาร่วมหนุนเสริม...
“การพัฒนาคน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้ใจมาก่อน เมื่อใจมาทุกอย่างก็ทำได้ไม่ยาก”

ขอบคุณ: https://www.gotoknow.org/posts/354747
              : กองส่งเสริมและพัฒนาการปสุสัตว์

ไม่มีความคิดเห็น: