วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ผีปู่ตา : ยะจั๊วะ

ผีปู่ตา : ยะจั๊วะ

ชาวไทยกูย  เป็นชนพื้นเมืองเดิมอันมีเลือดผสมระหว่างเวดดิก ( Veddic )  และเมลานีเซียน ( Melanesian )  นับเนื่องอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับพวกข่า  เดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบเขาพนมดงรัก  มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เรียกว่ายะจั๊วะ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ
  1. 1. ยะจั๊วะเพรียม ( ผีปู่ตา )
  2. 2. ยะจี๊วะ ( ผีบรรพบุรุษในสายตระกูล 

แซนหยะจั๊วะ
ขอบคุณภาพ:http://news.sanook.com/1993418/

ยะจั๊วะเพรียมหรือยะจั๊วะปืด

ชาวไทยกูยหมายถึง  ผีอารักษ์ประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะปลูกศาลไว้  เช่น ที่บ้านตรึม ปลูกศาลไม้ไว้ข้างๆ โพรงตะกวด  โดยให้เหตุผลว่าตะกวด ซึ่งแทนผีปู่ตาเหล่านี้ไม่ชอบศาลปูนซีเมนต์  ศาลดังกล่าวซึ่งอยู่มุมหนึ่งของหมู่บ้าน  กรณีที่บ้านสำโรงทาบซึ่งไม่มีตะกวด  แต่ก็มีศาลยะจั๊วะประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3  ของทุกปี  จะมีการเซ่นสรวง เรียกว่า   แซนยะจั๊วะ  เพื่อขอบคุณ  ที่ได้ให้ผลผลิตจากการทำนาทำไร่และให้ข้าวแก่ยุ้งฉาง
ณ บ้านตรึม  บ้านแตล  และอื่นๆ บางหมู่บ้านในเขตอำเภอศีขรภูมิ  จะมีต้นไม้ใหญ่เป็นโพรงสำหรับตะกวดอาศัยอยู่ อย่างเช่น บ้านตรึม มีต้นมะขามใหญ่  มีศาลยะจั๊วะอยู่ใต้ต้นนี้  ชาวบ้านถือว่าตะกวดมีอิทธิพลมาก บาวทีก็ทำให้ฝนไม่ตก หากชาวบ้านประพฤติตนไม่ดีงาม  หรือมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในหมู่บ้าน  ตอนเช้าตะกวดจะออกจากโพรงเดินเพ่นพ่านหากินกบ เขียด คางคก ลูกไก่ หรือ ไข่ไก่ ตามหมู่บ้าน บางทีก็ขึ้นบนบ้าน  ช่วงเที่ยงก็กลับมานอน ครั้นบ่ายก็ออกไปอีก  ตกกลางคืนจะนอนนิ่งเงียบภายในโพรงไม้  ต้นไม้ที่มีตะกวดอาศัยอยู่จะมีนกกระสาฝูงใหญ่มาอยู่พึ่งพากัน  และต้นไม้อื่นๆ ก็ปรากฏมีกระรอกกระแตมาอาศัยอยู่ในต้นไม้ภายในหมู่บ้าน  ชาวบ้านรักสัตว์เหล่านี้  จะไม่แตะต้องสัตว์ที่เป็นเพื่อนของปู่ตา (ตะกวด) สรรพนามที่เรียกตะกวด คือ “เขา”  หรือพ่อ “พ่อเฒ่า”  แม้เวลาที่เห็นและจับได้ว่าตะกวดกินลูกไก่ ก็จะไม่ตี จะไล่ให้ไปที่อื่นและไม่กล่าวคำหยาบต่อตะกวดเหล่านั้น

การทำนายฝนฟ้า

ทั้งเดือน 3  เดือน  6  และเดือน  8  จะมีการเซ่นยะจั๊วะเพรียม  โดยที่จุดหมายอยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์   เนื่องจากฝนฟ้าช่วยเสริมการเกษตร  สำหรับชาวไทยกูยที่มิได้เลี้ยงช้างแต่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก
การประกอบพิธีจะกระทำในเวลาเช้ามืด  ณ  บริเวณยะจั๊วะตั้งอยู่  เครื่องเซ่นประกอบด้วยข้าว 1 จาน  ไก่ต้ม  1 ตัว น้ำ 1 แก้ว  เหล้า 1 ขวด  หมาก-พลู  2 คำ  บุหรี่  2 มวน  ข้าวเปลือก  1 ถ้วย  และเงิน  12  บาท  ในตอนเช้ามืดของวันที่จะประกอบพิธี  ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นดังกล่าวออกไปที่ยะจั๊วะเพรียม  ซึ่งอยู่นอกหมู่บ้าน (มักใช้บริเวณสถานที่ตั้งหมู่บ้านนั้น ๆ ครั้งแรก)  ผู้ทำพิธีเรียกว่า  “เฒ่าจำ”  หลังจากบนบานบอกกล่าวแล้ว  ก็จะวางเครื่องเซ่นไว้ที่ศาล  แล้วทำพิธีเสี่ยงทายโดยถอดกระดูกคางไก่ตัวที่เป็นเครื่องเซ่นออกมาดู  เพื่อทำนายฝนฟ้าและน้ำท่าในปีนั้น  ถ้าคางไก่เหยียดตรง  ทำนายว่าปีนั้นฝนจะตกน้อย   น้ำน้อยคือฝนแล้ง  แห้งแล้งมาก  เนื่องจากไก่แหงนคอดูฟ้า  คอยดูว่าเมื่อใดฝนจะตก   จึงทำให้กระดูกคางไก่ตั้งตรง  ถ้าคางไก่โค้งลง  ทำนายว่าฝนจะตกอุดมสมบูรณ์  เพราะไก่ก้มลงกินน้ำและหากินตามปกติ  จึงทำให้กระดูกไก่โค้งงอลง  เมื่อการทำนายเสร็จสิ้นชาวบ้านจะยึดถือเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปรับปรุงการทำนาเก็บสะสมพืชพันธุ์ธัญญาหาร  เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่อไป  ซึ่งพบว่าในอดีตหมู่บ้านเหล่านี้เคยใช้เต่าไปเซ่นแทนไก่  ในเดือน 3 เช่นเดียวกับแถบหมู่บ้านที่นับถือตะกวด  เพราะเต่าคือสัญลักษณ์ของน้ำและฝนนั่นเอง
ยะจั๊วดุง  เป็นผีบรรพบุรุษในสายตระกูลชาวไทยกูยแถวหมู่บ้านที่ไม่มีตะกวด   เช่น  สำโรงทาบ  และบ้านอื่น ๆ ใน อ.สำโรงทาบ  บ้านหนองสมบูรณ์  และบ้านอื่น ๆ ใน  อ.กาบเชิงหรือสังขะ  จะเน้นและให้ความสำคัญยะจั๊วะดุงมากกว่ายะจั๊วะเพรียม  เพราะถือว่ายะจั๊วะดุงเป็นผู้คอยดูแลความเป็นไปในครอบครัว  และเครือญาติในสายตระกูลให้อยู่อย่างปกติสุข  ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทยกูยเหล่านี้บอกว่า “เกิดมาก็เห็นหมอนใบหนึ่งวางอยู่ตรงมุมหนึ่งของห้องที่เป็นบ้านยะจั๊วะ (โคตรใหญ่)  แล้วเมื่อพ่อแม่ปฏิบัติอย่างไรรุ่นลูกรุ่นหลานก็ปฏิบัติอย่างนั้นเป็นธรรมเนียมมาจนปัจจุบัน  “แต่ที่หมู่บ้าน  ตรึม  แตล หัวแรด  อ.ศรีขรภูมิ  ที่มีตะกวดแทนผีปู่ตานั้น  ให้ความสำคัญแก่ยะจั๊วะดุงค่อนข้างน้อย
ชาวไทยกูยจะผูกพันกับยะจั๊วะ  ไม่ว่าการเกิด  การตาย  การแต่งงาน  การบวช  หรือแม้แต่การทะเลาะเบาะแว้งกันในวงศ์เครือญาติ  หรือการประพฤติผิดศีลของคนในตระกูล  จะมีการเสี่ยงทายหาสาเหตุ  หากพบว่าเป็นการกระทำของยะจั๊วะ  ทุกคนก็จะยอมรับว่ามีผู้กระทำผิดจารีตบ้านยะจั๊วะ  ยะจั๊วะจะหายโกรธและยอมให้อภัย
โดยเฉพาะการแต่งงาน  เมื่อสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้าน  จำต้องทำพิธีเซาะดุง (ขึ้นบ้าน) ที่บ้านยะจั๊วะก่อน  จึงจะถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวโดยสมบูรณ์   หากยังไม่ได้ทำพิธีเซาะดุง  สะใภ้คนนั้นก็ไม่มีสิทธิ์จะขึ้นบ้านยะจั๊วะ  แต่ถ้าหากปีใดมีการแต่งสะใภ้เข้ามาในสายตระกูลเกิน 2 คน  ก็จะทำพิธีเซาะดุงได้  เพียงสะใภ้คนเดียว  ส่วนคนต่อไปก็จะมาทำพิธีในปีถัดไป  เพราะหากทำในปีเดียวกัน  จะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นสะใภ้มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง

การใช้สัตว์หรือชื่อสัตว์เป็นสัญลักษณ์แทนผีปู่ตา

แม้ชาวไทยกูยในจังหวัดสุรินทร์จะไม่รู้ว่ายะจั๊วะอยู่ที่ใด  มีตัวตนหรือไม่  แต่เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นในครอบครัวเครือญาติในสายตระกูล  ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะดีหรือร้ายประการใด  ทุกคนก็ให้ความสำคัญ และเคารพยำเกรงยะจั๊วะเสมอ  โดยผ่านทางญาติผู้ใหญ่ที่เรียกว่าโคตรปืด หรือสมมุติสัตว์หรือชื่อสัตว์  เช่น ตะกวดที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้  หรือป่าทึบ  เต่าที่อาศัยในน้ำหรือด้านถักใยแมงมุมที่แขวนอยู่รอบศาลที่ประทับของยะจั๊วะดุง  หรือผีบรรพบุรุษในบ้านของโคตรใหญ่ในสายตระกูล  ก็เพื่อเป็นการสื่อระหว่างบุคคลในสายตระกูลกับผีบรรพบุรุษ หรือบุคคลในหมู่บ้านกับผีบรรพบุรุษ  เพราะจะพบว่า  การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ  (ยะจั๊วะ) หรือผีปู่ตา  โดยโคตรใหญ่ในสายตระกูลหรือเต่าประจำหมู่บ้าน  สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า  มนุษย์สามารถติดต่อกับผีบรรพบุรุษตลอดจนสิ่งเหนือธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้  และสถานที่หวงห้ามซึ่งให้คุณและให้โทษแก่คนในชุมชน
กูยช้าง-กูยตะกวด เป็นแบบอย่าง  ที่น่าศึกษาด้านการรักษาระบบนิเวศวิทยาและการปลูกฝังความเชื่อ-ค่านิยมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ที่น่าทึ่งและเหมาะสมในสภาวการณ์โลกในปัจจุบัน
ขอบคุณ-http://www.oknation.net/blog/kradandum/2008/11/06/entry-3

ไม่มีความคิดเห็น: