วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประวัติชาวเยอ


ประวัติเกี่ยวกับชาวเยอ
เมืองคงโคกกับพญากตะศิลา
เมืองคงโคก เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในพื้นที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ห่างตัวแม่น้ำมูลขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร ลักษณะของเมืองโบราณแห่งนี้เป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเมืองประมาณ ๙๐๐ เมตร มีพื้นที่ราบเป็นผืนนาล้อมอยู่โดยรอบ รูปแบบของผังเมืองโบราณแห่งนี้ เป็นพื้นที่เมืองรูปทรงกลมที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบอย่างละสองชั้น

ประวัติความเป็นมาของเมืองคงโคกแห่งนี้นั้น เดิมมีบันทึกลงในใบลานซึ่งเรียกกันว่า “หนังสือพื้นเมืองราษีไศล” เดิมเก็บรักษาไว้ที่วัดกัลยาโฆสิตาราม ซึ่งตั้งอยู่ภายในตัวอำเภอราษีไศล แต่ได้ผุพังไปหมดแล้ว เหลือแต่เป็นตำนานหรือนิทานเล่าปากต่อปากสืบต่อกันมาว่า แต่เดิมมีพี่น้องสองคน ชนกลุ่มน้อยพวกหนึ่งที่เรียกว่าเผ่า”เยอ” มีหลักแหล่งอาศัยอยู่ในแถบเมืองหลวงพระบางตอนเหนือ มีชื่อ “พญาไกร”และ “พญากตะศิลา” อพยพผู้คนล่องตามลำน้ำโขงลงมา ด้วยขบวนเรือแข่งจากเมืองเชียงทอง เขตเมืองหลวงพระบาง ซึ่งอยู่เขตประเทศลาวในอดีต ขบวนผู้คนเหล่านี้อพยพมาจนถึงบริเวณแถบจังหวัดศรีสะเกษในอดีตกาล แล้วได้แยกออกเป็นสองสาย คือ พญาไกร ผู้พี่นำผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณปราสาทเยอ เขตอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มหนึ่ง และพระยากตะศิลา ผู้น้องนำผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองคงโคกแห่งนี้ อีกกลุ่มหนึ่ง


ในระยะต่อมาบริเวณเมืองคงโคก เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาด ประกอบกับเกิดภาวะแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ จึงมีการอพยพชุมชนลงมาตั้งบ้านเรือนหนาแน่นริมแม่น้ำมูล ทิ้งให้บริเวณเมืองคงโคกรกร้างอยู่เป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปีเศษ ชุมชนเชื้อสายเยอส่วนใหญ่มาตั้งชุมชนใหญ่อยู่ที่บริเวณวัดกลาง และวัดใต้ ของตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน

อำเภอราษีไศล เดิมชื่ออำเภอคง คงจะเอาชื่อเมืองคงโคกมาตั้งเป็นชื่ออำเภอ แต่ตัดเอา “โคก” ออกไปเพราะไม่ได้ตั้งอยู่บนโคกเมืองแล้ว ที่ตั้งอำเภอจึงมีชื่อว่า “ตำบลเมืองคง” แตกต่างกับอำเภอโดยทั่วไป ชื่ออำเภอ และ ตำบลที่ตั้งอำเภอ มักจะมีชื่อเดียวกัน ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๘๒ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอราษีไศล

อนึ่งมีข้อสังเกตว่า ในบริเวณตำบลเมืองคง อันเป็นสถานที่ตั้งอำเภอแห่งนี้มีประชาชนใช้นามสกุล “กตะศิลา” เช่นเดียวกันเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้สืบสายสกุล หรือมีการเกี่ยวพันทางเครือญาติกันโดยตรง แต่เป็นที่เชื่อกันว่า “ประชาชนในแถบนี้ล้วนแต่เป็นคน เผ่าเยอ ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเผ่าเดียวกัน คือ พญากตะศิลา” เมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ. พระราชบัญญัตินามสกุล ปี 2465 แล้วชาวบ้านย่านเดียวกันไปติดต่อตั้งชื่อสกุล ณ ที่ว่าการอำเภอ เมื่อผู้ใหญ่บ้าน ขอตั้งชื่อสกุลว่า “กตะศิลา” ลูกบ้านในหมู่บ้านก็เห็นดีเห็นงาม ขอใช้ชื่อสกุลเดียวกัน ตามกันไปหมดทั้งหมู่บ้าน เพราะเชื้อสายเยอด้วยกันถือว่า เป็นลูกหลานพญากตะศิลา ดังปรากฏมีชื่อสกุล ”กตะศิลา” กันทั้งหมดหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียง ให้คนไทยได้รู้จัก ดังชื่อนามสกุลของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โด่งดังคนหนึ่ง เกิดที่ตำบลเมืองแคน อำเภอราษีไศล จบการศึกษาจาก โรงเรียนมัธยมราษีไศล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านคือ นายสุริยะใส กตะศิลา นอกจากนั้น น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ยังได้เคยเป็น แพทย์ชนบท ที่โรงพยาบาลราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ จนถึง พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นระยะเวลา ๕ ปี มีความรู้จักพื้นที่ ในดินแดนถิ่นแคว้นของ พญากตะศิลา อำเภอราษีไศล เป็นนายแพทย์ที่มีผลงานดีเด่นในการบุกเบิก และผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนรัฐบาลไทยรับไปเป็นนโยบายใช้จริง โดยพรรคไทยรักไทย ได้นำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "๓๐ รักษาได้ทุกโรค"

ผมเองในฐานะผู้เขียน ได้มีส่วนริเริ่มปั้นรูปปั้น พญากตะศิลา ไว้ที่เมืองคงโคกตามจินตนาของคนทรงเจ้าของผม เพื่อให้ผู้สืบเชื้อสายชาวเยอ ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล ไว้เคารพสักการะและทำอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษชาวเผ่าเยอ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้…/

โดย : นายสมหมาย ฉัตรทอง/ อดีต นอภ.ราษีไศล
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/606967
ขอบคุณ;ข้อความเฟสบุ้ค คุณ รุ่ง กอนกูย,https://gotoknow.org/posts/606967

ไม่มีความคิดเห็น: