“คนเราต้องภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง” พิณี หาสุข ...เกิดและเติบโตที่หมู่บ้านกันตรง หมู่บ้านอันทุรกันดารของชาวไทยเชื้อสายส่วย หรือ กูย ...ในวัยเด็ก พิณี หาสุข ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร เพื่อเข้าไปเรียนหนังสือในตัวอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ กับการเป็นคนชายขอบของตัวเอง ซึ่งขาดโอกาสในทุกๆ ด้าน และไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ทว่าเขากลับแปรเอาความน้อยเนื้อต่ำใจเป็นพลังในการก้าวเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
พิณี หาสุข เพียรพยายามจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับราชการครู และความก้าวหน้าทางอาชีพราชการ ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ กระทั่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ปี 2550 พิณี หาสุข ได้ขอย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกันตรง โรงเรียนประถมศึกษาเล็ก ๆ เพื่อพัฒนาบ้านเกิด
พิณี หาสุข เริ่มฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมของชาวส่วย เช่น พิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่ พิธีแกลมอ อันเป็นสิ่งที่เขา เคยปรามาสว่างมงาย แต่เนื้อแท้แล้ว พิธีกรรมดังกล่าว คือ กุศโลบายในการรวบรวมจิตใจของคนในชุมชน จากนั้น พิณี หาสุข เห็นว่า ในอดีตบ้านกันตรง ขาดความเป็นระเบียบ จนถึงมีคนเคยตั้งฉายาว่า “หมู่บ้าน ขี้ควาย” เขาจึงเริ่มต้นเป็นผู้นำ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการทำให้สถาบันของชุมชนทั้ง โรงเรียน วัด ครอบครัว ชุมชน เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กัน
พิธีแซนโฎนตาเพื่อบูชาและรำลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ |
อ.พิณีให้สัมภาษณ์ถึงวิถีอันเป็นอ้ตลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจแห่งชาวกูย |
สาธิตพิธีกรรมแกลมอ หมู่บ้านกันตรง |
เพียง 2 ปี จาก “หมู่บ้านขี้ควาย” ก็กลายเป็น “ชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ” นอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้านจะเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นอยู่ การศึกษาของคนในชุมชน ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย ...ปัจจุบัน พิณี หาสุข ยังไม่หยุดคิด ไม่หยุดเป็นผู้นำ ในการขับการเคลื่อนชุมชนให้พัฒนาไปพร้อม ๆ กับการรักษารากเหง้าแห่งเอกลักษณ์ ของคนไทยเชื้อสายกูยเอาไว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น