กูย (ส่วย) ในจังหวัดพิจิตร
กูย (ส่วย) ในจังหวัดพิจิตรย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ เนื่องจากฝนแล้ง โดยเข้ามาถางป่าจับจองที่ซึ่งยังไม่มีใครเป็นเจ้าของในเขตตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม หาเลี้ยงชีพด้วยการเผาถ่านและรับจ้างตัดอ้อย เมื่อได้เงินจะนำมาเช่าควายเพื่อทำนา ปัจจุบันกูยในจังหวัดพิจิตร ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ชุมชนบ้านยางตะพายตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี
วัฒนธรรมและประเพณี
ประวัติศาสตร์ชนชาวกูย มีบทบาทสำคัญยิ่งในบริเวณอีสานใต้ ลาวใต้และกัมพูชาตอนบน มีความเป็นมาและมีการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผสมกลมกลืนกับชาวเขมร ลาว ไทย มาตลอด ชาวกูยในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานปนอยู่กับชาวเขมรสูง และชาวลาว ทำให้กูยถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรสูงและลาวซึ่งพอสรุปเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
ด้านบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
แต่เดิมบ้านของชาวกูยมีลักษณะใต้ถุนสูง ด้านหน้าเอาไว้เลี้ยงช้าง ใต้ถุนใช้เป็นที่ฟืมทอผ้า กระด้งไหม วัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ บางบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งที่ติดตัวบ้านเป็นยุ้งข้าว บางบ้านสร้างแยกต่างหาก
ด้านการแต่งกาย
การแต่งกายชุดพื้นเมืองของชาวกูย (ส่วย) ในจังหวัดพิจิตร
ชาย จะใสโสร่งหรือกางเกงขาก๊วย สีคราม หรือสีดำ เสื้อผ้าฝ้าย เช่นเดียวกับเขมร มีผ้าขาวมาคาดเอวหรือโพกหัว
หญิง นุ่งผ้าซิ่นทอเอง ส่วนมากเป็นผ้าไหม เสื้อผ้าฝ้ายแขนกระบอกสีดำ
ปัจจุบันชายใส่กางเกงขายาวและเสื้อตามสมัยนิยมส่วนหญิงนุ่งผ้าซิ่นไหมสวมเสื้อตามสมัยนิยม เครื่องประดับประจำกลุ่ม เครื่องเงิน เช่น สร้อย กำไลข้อมือ
ด้านภาษา
กูย หรือ กวย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่พูดภาษา “ ออสโตรเอเชียติก ” ซึ่งมีเฉพาะภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน เรียกกันว่า “ ข่า ส่วย หรือกวย ” ซึ่งมีวัฒนธรรมด้านภาษาอยู่ในกลุ่มเดียวกันภาษากูยหลายคำ เมื่อรวมเข้ากับภาษาเขมรจะมีรากศัพท์ใกล้เคียงกับภาษาพูดของชาว “ ไทโส้ ” ที่อาศัยอยู่ในอำเภอ กุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ดังจะเปรียบทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างภาษาพูดของไทย เขมร ลาว ส่วย แยกตามหมวดหมู่ดังนี้
หมวดร่างกาย
ไทย เขมร ลาว ส่วย
แขน ได แขน แบง
ขา จึง ขา ควง
จมูก จะเมาะ ดั่ง มุ ฯลฯ
หมวดสัตว์
ควาย กะเบ้ย ควย กวี
วัว โค งัว โฆ
ปลา เตรย ปา อากา ฯลฯ
หมวดผลไม้
ส้ม โกรด บักส่ม ไปรโซม
กล้วย เจก ก้วย ปรีด
มะม่วง สะวาย บักหม่วง ไปรของ ฯลฯ
หมวดเครื่องใช้
หวี กร๊ะ หวี กรา
แป้ง อันเซา แป้ง ปง
ผ้าห่ม โพย ผ่าห่ม ฉิกนุม ฯลฯ
ตัวอย่างภาษาพูดของกูย (ส่วย)
ภาษาพูด แม๊ะ,นุ แปลว่า แม่,พ่อ
ภาษาพูด แม๊ะเฒ่า,นุเฒ่า แปลว่า ยาย,ตา
ภาษาพูด นูโกน,แม๊ะโกน แปลว่า ปู่,ย่า ฯลฯ
ด้านการกินอยู่ (อาหาร)
อาหารที่นิยมรับประทานกันในกลุ่มชนส่วย ได้แก่
ปลาจ่อม
แจ่ว (น้ำพริก)
แกงเปอะ
แกงเผือก
ขนมบัวลอย
ข้าวต้มมัดตักใต้
ด้านความเชื่อและศาสนา
หนึ่งในความเชื่อของชาวกูย (ส่วย) ในชุมชนยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ยังนับถือเจ้าพ่อปู่ดำ ซึ่งเชื่อว่า เจ้าพ่อปู่ดำช่วยในเรื่องทำสิ่งใดให้ราบรื่น โดยจะทำเซ่นพิธีไหว้ปีละ ๒ ครั้ง ในเดือน ๓ วันพุธแรกของเดือน โดยเซ่นไหว้ด้วยข้าวสุก ไก่ตม ๑ ตัว เหล้า ๑ ขวด หมากพลู ๒ คำ ยาเส้น ๒ ม้วน และเดือน ๖ วันพุธแรกของเดือน เลี้ยงด้วยข้าวเปลือก แทนข้าวสุก นอกนั้นเหมือนเดือน ๓
ด้านคติชนวิทยา (เรื่องราวที่เล่า สืบทอดต่อๆ กันมา)
เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านยางตะพาย เดิมบริเวณหมู่บ้านนี้ชาวบ้านเรียกว่า หนองพักเกวียนทอง แต่เดิมที่บ้านยางตะพายมีต้นยางขึ้นอยู่มากมายมีชาวบ้านจากบุรีรัมย์และสุรินทร์ อพยพมาถากถางป่าจับจองที่ และตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ มีสามีภรรยาคู่หนึ่งพากันเดินทางไปตักน้ำมันยางจากต้นยางในป่าบริเวณหนองพักเกวียนทอง ภรรยาซึ่งตั้งครรภ์ท้องแก่ใกล้คลอดเกิดเจ็บท้องและคลอดลูกในป่ายาง สามีจึงนำผ้าขาวม้าที่นำติดตัวมาสะพายลูกและน้ำมันยางกลับบ้าน ชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อที่แห่งนั้นว่า บ้านดงยางสะพาย ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น ยางตะพาย และเรียกสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
ด้านประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต
พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด
พิธีกรรมสู่ขวัญคนเจ็บป่วย
พิธีกรรมขอขมาคนป่วยใกล้ตาย
พิธีกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าน
พิธีกรรม “แกลมอ”
ประเพณีการสู่ขอ
ประเพณีการแต่งงาน
ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่
ประเพณี เทศกาลการละเล่นประจำท้องถิ่น
ประเพณีถวดแท่น (ทอดกฐิน)
เทศกาลสงกรานต์
การละเล่นพื้นบ้าน
ด้านอาชีพและเครื่องมือเครื่องใช้
อาชีพของส่วยที่ชุมชนบ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนใหญ่ที่ยังคงประดิษฐ์ขึ้นเองจะมีอยู่น้อยมากและยังคงเหลือให้เห็นอยู่เป็นบางชิ้น เช่น
กระตะ
ครุ
อะกรอะ
อะตะโยน
ต่องแพละ
ที่มา: หนังสือ ๑๐ ชาติพันธุ์ในจังหวัดพิจิตร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร