วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประวัติหลวงศรีนครเตา เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก

ประวัติหลวงศรีนครเตา  เจ้าเมืองรัตนบุรีคนแรก




หลังจากเชียงสี นำคณะ ย้ายจาก “บริเวณบ้านธาตุ” ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ไปอยู่ที่บ้าน “กุดหวาย” เอกสารบางแห่งก็ว่าบ้าน “เมืองเตา” บริเวณห้วยแก้ว อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จวบจนราว พ.ศ. 2302 (หรือ 2303 – 2304 ) พระยาช้างเผือกซึ่งเป็นช้างทรงของพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้แตกโรงหนีออกมาทางทิศตะวันออก “เชียงสี” แห่งบ้านกุดหวาย หนึ่งในคณะชาวส่วย (เชียงปุม เชียงไชย เชียงขัน เชียงฆะ เชียงสง เชียงสี) ได้ช่วยกันจับช้างถวายคืนกรุงศรีอยุธยา เมื่อการสำเร็จ หัวหน้าชาวส่วยทั้งหก ได้รับพระราชทานนามยศและปกครองหมู่บ้านเดิมของตน โดย “เชียงสี” เป็น “หลวงศรีนครเตา” หัวหน้าบ้าน “กุดหวาย” ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย และเรียกเมืองเหล่านี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “เขมรป่าดง”


- ราวปี พ.ศ. 2306 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หัวหน้าหมู่บ้าน และยกฐานะ “บ้านกุดหวาย” เป็น “เมืองรัตนบุรี” โดยอาณาเขตของเมืองรัตนบุรี กำหนดดังนี้ (1) ทิศเหนือ จรดเมืองทุ่ง (สุวรรณภูมิ) มีแม่น้ำมูลเป็นเขตแดน (2) ทิศใต้ จรดหลักหินภูดิน ชนเขตแดนเมืองสุรินทร์ (3) ทิศตะวันออก จรดลำห้วยทับทัน (4) ทิศตะวันตก จรดดงแสนตอ (ดงขมิ้น) เขตอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ดังภาพ (แต่ผู้เขียนคาดว่า ด้านทิศตะวันตก น่าจะทอดยาวไปถึงบริเวณที่เรียกว่า ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เพราะกลุ่มคนที่ตำบลเมืองเตา มีประวัติความเป็นมา ความเชื่อเกี่ยวข้องกับ “เจ้าพ่อศรีนครเตา” ด้วย (ความเชื่อเรื่อง เจ้าพ่อศรีนครเตา มีปรากฏทั่วไปตามชุมชนที่ติดลำน้ำมูลและเขตทุ่งกุลา โดยมีการสร้างศาลเจ้า ไว้เคารพบูชา ไม่เฉพาะอำเภอรัตนบุรี เท่านั้น เช่น บ้านเมืองเตา ต.เมืองเตา อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, บ้านเมืองเสือ ต.เมืองเสือ  อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, บ้านหนองบัวเจ้าป่า เทศบาลอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และบ้านไพขลา ต.ไพขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์)  ปี พ.ศ. 2321 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) เป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ (พระอนุชารัชกาลที่ 1) ยกทัพผ่านไปทางเมืองปะทายสมันต์ สังขะ รัตนบุรี ขุขันธ์ เมืองทั้งสี่ ได้จัดกำลังทหารเข้าสมทบ เข้ายึดนครจำปาศักดิ์ และยกทัพขึ้นเหนือตีเมืองเวียงจันทน์
ศึกครั้งนี้ ได้ “พระแก้วมรกต” แต่ในพงศาวดาร ปรากฏการปูนบำเหน็จให้เจ้าเมืองปะทายสมันต์ สังขะ และขุขันธ์ เท่านั้น หลังสงครามครั้งนี้ เมืองรัตนบุรี ไม่ปรากฏในพงศาวดารหรือบันทึกจดหมายเหตุของจังหวัดสุรินทร์เลย (ว่ากันว่า พระราชสาส์นสั่งให้เกณฑ์ไพร่พล เข้าทำศึกใดศึกหนึ่ง (ไม่ปรากฏแน่ชัด) เกิดสูญหายตกหล่นที่เมืองรัตนบุรี และเจ้าเมืองต้องอาญาศึก)
    และอีกบันทึกหนึ่ง มีใจความว่า หลวงศรีนครเตา ต้องพระอาญา เนื่องจากแอบเปิดราชสาส์นลับ(ตามคำออดอ้อนของศรีภรรยา) มีโทษถึงประหาร แต่ท่านได้หนีไปบวชเสียก่อน ที่วัดไพรขลา โดยเปลี่ยนใหม่ชื่อว่า เมื่อย  ท่านบวชอยู่นานจนชาวบ้านรดน้ำให้ท่านเป็น อุปชฌาย์และเรียกสมญาท่านว่า ฌาย์เมื่อย และท่านก็อยู่ในผ้าเหลืองจนวาระสุดท้ายที่วัดบ้านไพรขลานั่นเอง ท่านสิ้นบุญเมื่อปี พ.ศ. 2338 รวมอายุประมาณ 86 ปี
หมายเหตุ:บันทึก จากปากคำของ ปู่แสน ผาจีบ ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2495 รวบรวมโดย นายจรัส ไกรแก้ว
    พระศรีนครเตาท้าวเธอ ได้กล่าวคำสาปไว้ว่า “มันผู้ใด เมื่อมาอยู่เมืองรัตนบุรี หากไม่รักเมืองรัตนบุรี ทุจริตประพฤติมิชอบ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ขอให้มีอันเป็นไป” ชาวอำเภอรัตนบุรี ได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระศรีนครเตาท้าวเธอ ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงผู้สร้างเมืองรัตนบุรีคนแรก ตั้งอยู่ทางด้านขวามือของถนนสายรัตนบุรี-ศรีสะเกษ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2076 เยื้องกับที่ว่าการอำเภอรัตนบุรี และมีการจัดงานสมโภชน์ และไหว้ศาลหลักเมืองรัตนบุรี (ด้านหน้าอนุสาวรีย์ฯ) ในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี (มักจัดตรงกับประเพณีบุญบั้งไฟ ของอำเภอรัตนบุรี) ส่วนงาน “ไหว้เจ้าพ่อศรีนครเตา” นั้น เป็นการจัดงานไหว้เจ้าประจำศาลเจ้า ซึ่งเรียกว่า “เจ้าพ่อศรีนครเตา” ของคนไทยเชื้อสายจีน ในอำเภอรัตนบุรี จัดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี หลังจากงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์


 ปี พ.ศ. 2329 สมัยรัชกาลที่ 1 พื้นที่เมืองรัตนบุรี ส่วนที่เป็นอำเภอชุมพลบุรีและท่าตูม ถูกแบ่งไปขึ้นตรงกับ “เมืองสุรินทร์” และปี พ.ศ. 2435 สมัยรัชกาลที่ 5 เมืองรัตนบุรี ได้กล่าวโทษ เมืองสุรินทร์แย่งชิงเขตแดนเนื่องจากบุตรเจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า ได้นำบัญชีหางว่าวคนที่ บ้านโคกหนองสนม (อำเภอสนม) ไปทำราชการขึ้นตรงกับ “เมืองสุรินทร์” แต่ทางกรุงเทพฯ ให้กลับไปสังกัดเมืองรัตนบุรีตามเดิม ปี พ.ศ. 2439 เมืองรัตนบุรี ถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อจังหวัดบุรีรัมย์ และใน พ.ศ. 2458 อำเภอรัตนบุรี ถูกโอนเข้าเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ จนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ทางราชการได้แบ่งพื้นที่ตั้งกิ่งอำเภอสนม และ วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ทางราชการ ได้แบ่งพื้นที่ตั้งกิ่งอำเภอโนนนารายณ์ แยกจากอำเภอรัตนบุรี ส่งผลให้ “รัตนบุรี” ในปัจจุบัน เหลือพื้นที่อยู่เพียง 12 ตำบล ดังภาพ 


วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชาติพันธุ์บรู อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ชาติพันธุ์บรู อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ชนเผ่าบรู กับ ชนเผ่าโซ่  มีถิ่นที่อยู่เดิมใกล้เคียงกันแต่ไม่ใช่เผ่าเดียวกัน
ชาวบรู  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มมองโกลอยด์  จัดอยู่ในตระกูลออสโตร-เอเชียติค  มอญ-เขมร  เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน  บ้านหินแตก  บ้านคำแหว  ตำบลไร่  บ้านนาเลา  บ้านห้วนบุ่น   บ้านนาทัน  ตำบลนาใน  อำเภอพรรณนานิคม  บ้านหนองไฮน้อย  บ้านหนองไฮใหญ่  บ้านโคกสะอาด  ตำบลแร่  อำเภอพังโคน   จังหวัดสกลนคร  ชาวบรูมีการตั้งหมู่บ้านกระจายกันออกไปทั้งอยู่ที่ราบเชิงเขา  และสภาพหมู่บ้านบนเทือกเขาภูพาน  และอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน
             
                         

   การแต่งกายแบบชาวบรู

ชาวบรู  เดิมอาศัยอยู่ที่เมืองวังอ่างคำ  แขวงสะหวันนะเขต   ประเทศสาธารณรัฐ  ประชาธิปไตยประชาชนลาว  ในปัจจุบันนี้  ลาวได้แบ่งเขตการปกครองเป็นกำแพงนครเวียงจันทร์  แขวงหลวงทา  อุดมไช  บ่อแก้ว   หลวงพระบาง  หัวพัน  ไชยะบุรี   เชียงขวาง  เวียงจันทร์  บอลิคำไชย  คำม่วน  เซกอง   อัดตะปือ  จำปาสัก   สะหวันนะเขต  และเขตพิเศษไชยสมบูน  ชาวบรู  อำเภอพรรณนานิคม  อำเภอพังโคน  มีถิ่นฐานเดิมอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง   บริเวณเมืองวัง-อ่างคำ  การอพยพถิ่นฐานหน้าจะผ่านเมืองคันธบุรี  แขวงสะหวันเขต   แล้วข้ามแม่น้ำโขง  เข้าสู่ดินแดนฝั่งขวาของประเทศไทยที่จังหวัดมุกดาหาร  นครพนม  และจังหวัดสกลนคร   เดินทางผ่านเลาะเลียบชายขอบเทือกเขาภูพาน  ก่อนที่จะตั้งหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณชายเขื่อนน้ำอูน (ลำห้วยอูน)  ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารจนปัจจุบัน

การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวบรูจะมีผู้นำ  และบุคคลที่ให้ความเคารพนับถือเรียกว่า “จ้ำ”  เป็นผู้ที่มีบทบาทในการประกอบพิธีกรรมที่เป็นฮีต (จารีต)  และเป็นผู้นำพาชาวบ้านสร้างหอปู่ตา เพื่อให้ชาวบ้านได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ  ภาพที่ชาวบรูจำลองพิธีกรรมน๋ชองอะร่วาย

กลุ่มชาวบรู  มีถิ่นฐานกำเนิดอยู่ลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  บริเวณแขวงสะหวันเขต  สาละวัน  และอัตตะปือ  เมื่อราว  ๑๑๕  ปี  ดินแดนบริเวณนี้เคยเป็นของชาวบรูมาก่อน  แล้วจึงได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทย  ชาวบรูตามคำเรียกของนักมานุษยวิทยา  เรียก ชาวบรูเป็นชาวข่า  กลุ่มชนดั้งเดิมในแถบลุ่มแม่น้ำโขง  สืบเชื้อสายมาจากลุ่มชาวขอม  ซึ่งกลุ่มชนขอมเคยอยู่ในบริเวณอาณาจักรเจนละมาก่อน   และชาวข่า  จะเรียกกลุ่มของตนเองว่า “บรู”

วิถีชีวิตชาวบรู

ชาวบรู  ดำรงชีวิตเรียบง่าย  มักน้อยสันโดษ   ชอบดำรงชีวิตอาศัยตามสภาพธรรมชาติซึ่งเป็นป่าเขา  แหล่งน้ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย  มีอาชีพทำนา  ทำไร่   รับจ้าง  ทำงานหัตถกรรมพื้นบ้านสานเสื่อ  ทอผ้า  ชอบเลี้ยงวัว   เลี้ยงควาย  ไม่นิยมการซื้อขาย  ชอบการแลกเปลี่ยน  เช่น  นำสัตว์ป่า  หอย  หน่อไม้  เห็ด  ผักตาเปียก  ผักหวาน ฯลฯ   แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่ตนเองไม่มี  เช่น  ข้าว  เพราะส่วนมากที่นาทำกินมีน้อย  ผู้ชายชาวบรู  นิยมออกป่าล่าสัตว์  ลงน้ำหาปลา  ผู้หญิงจะอยู่บ้าน  มีความเชื่อเรื่อง  ภูตผี  วิญญาณ  และนับถือพระพุทธศาสนา  ในโลกปัจจุบันเริ่มออกสู่โลกภายนอกจากหมู่บ้าน  อำเภอ   จังหวัดและกรุงเทพฯ   เพื่อไปเรียนรู้โลกภายนอกตามความเจริญของโลก

ในปัจจุบัน  จารีตประเพณีหลายอย่างอยู่ในภาวะที่ใกล้จะสูญหาย  โดยเฉพาะพิธีกรรมศพและภาษา  เนื่องจากชาวบรูมีทัศนคติว่า  ภาษาบรูของตนมีสำเนียงลีลาการพูดไม่เหมือนกับภาษาของคนอื่น ๆ  คนอื่นฟังแล้วไม่เข้าใจ  ในขณะเดียวกันก็ถูกคนกลุ่มอื่นมองว่าเป็นข่า  โส้  ไม่ใช่บรู  เมื่อมีการติดต่อสื่อสารกับโลกนอก  ปัจจุบันนี้สังคมกลุ่มชาวบรูจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกนิยม  จึงมิได้อยู่แต่ลำพังในกลุ่มตนฝ่ายเดียว  ชาวบรูสามารถที่จะอยู่ร่วมกันกับหมู่บ้านอื่น ๆ ได้  จึงสามารถจะพูดสื่อสารกับคนอื่น  มีการแต่งงานจึงมีการผสมผสานกลมกลืน

ในปัจจุบันภาษา  และวัฒนธรรมประเพณีชาวบรู  อยู่ในขั้นวิกฤติ  หากไม่อนุรักษ์  ส่งเสริมฟื้นฟูภาษา  และวัฒนธรรมของชาวบรู   อาจสูญหายไปได้  เนื่องจากไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเองคงมีไว้เพียงสำเนียงการพูดอยู่ในระดับหมู่บ้าน  และกลุ่มตนเองเท่านั้น

ขอบคุณ:http://www.oknation.net/blog/plardeakdee/2010/06/11/entry-1

ประวัติ ชนเผ่าชาวข่า หรือ บรู จังหวัดมุกดาหาร

ประวัติ ชนเผ่าชาวข่า หรือ บรู จังหวัดมุกดาหาร

ข่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ชาวข่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแขวงสุวรรณเขต แขวงสาลวัน และแขวงอัตปือ ของลาว ซึ่งเมื่อร้อยปีก่อน (ก่อน พ.ศ. 2436) ยังเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทยชาวข่า อพยพมาตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นส่วนมาก
นักมานุษยวิทยาถือว่า ชาวข่าเป็นชนเผ่าหนึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจสืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณ ซึ่งเคยอยู่ในดินแดนของอาณาจักรเจนละซึ่งต่อมาเป็นอาณาจักรขอมและอาณาจักรศรีโคตรบรูณ์ซึ่งขอมเคยมีอิทธิพลครอบคลุมขึ้นมาถึงแล้วเสื่อมอำนาจลง ซึ่งพวกข่าอยู่ในตระกูลเดียวกับขอมและมอญเขมร

ภาพจาก:http://www.isangate.com/isan/paothai_ka_bru.html

      ภาษาข่า เป็นภาษาในตระกูล ออสโตรอาเซียติค สาขามอญ เขมร กลุ่ม กะตู ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับภาษากูย ชาวข่ายังแบ่งแยกกันอีก เป็นหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ข่าย่าเหิน ข่าบริเวณ ข่าสุ ข่าตะโอย ข่าสอก ข่าสปวน ฯลฯ
เป็นต้น  ชาวข่า มิได้เรียกตัวเองว่า ข่า แต่เรียกตัวเองว่าเป็น พวกบรู ซึ่งแปลว่า ภูเขา คำว่า ข่า เป็นชื่อที่ชาวอีสาน เรียกขานชาวบรู
    คำว่า ข่า อาจจะมาจากคำว่าข้าทาส ซึ่งชาวอีสานชอบเรียก
ชาวข้าทาสว่า ข่า หรือ ข่อย ซึ่งหมายถึง ข้า หรือ ทาส แต่ชอบออกเสียงไม้โทเป็นไม้เอกคือคำว่า ข้าเป็น ข่าเพราะว่าในอดีตชาวไทยในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ชอบไปจับ เอาชาวข่า(บรู)ตามป่าดงมาเป็นข้าทาส  ในสมัยรัชกาลที่ 5จึงประกาศห้ามมิให้
ไปจับพวกข่ามาเป็นข้าทาสอีกส่วนในประเทศเวียดนามเรียกพวกข่า ว่า พวกมอย (MOI)

ชาวไทยข่า ( บรู )
    ชาวข่าในสมัยโบราณเคยมีประวัติว่ามี ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สูงส่งมาก่อน มีความรอบรู้ในการประดิษฐ์ของใช้ในการดำรงชีวิต เช่น การปั้นไห การหล่อโลหะ (กลองมโหระทึก) การนำหินมากรอฟัน ให้ราบเรียบสวยงาม มีมาก่อนเครื่องมือทันตแพทย์สมัยนี้เสียอีก อันเป็นเอกลักษณ์ของพวกข่า
 ชาวข่าดั้งเดิมมักจะมีผิวกายดำคล้ำ ผมหยิกทั้งหญิงและชาย ผู้ชายแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าเตี่ยวมีผมม้ายาว ประบ่าและนิยมใช้ผ้าแดงผูกคล้องคอหรือโพกศรีษะเป็นเอกลักษณ์ตามประวัติเล่าว่า เนื่องจากบรรพบุรุษของชาวข่าได้ใช้ผ้าชุบเลือดสีแดงแนบติดกายไว้ก่อนสิ้นชีวิตในการต่อสู้แย่งชิงถิ่นที่อยู่ กับชาวผู้ไทยในอดีต ในดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พวกข่าจึงถือว่าผ้าแดงเป็นเอกลักษณ์ของเขา ส่วนผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าซิ่นยาวถึงข้อเท้าแต่เปลือยอกท่อนบน
ผู้ชายข่าเคยมีประวัติว่าเป็นนักรบที่ห้าวหาญ มีหน้าไม้พร้อมลูกดอกอาบยาพิษยางหน่อง
(ยางไม้ที่มียาพิษรสชาติขม) เป็นอาวุธประจำกาย แม้ในสมัยที่ดินแดนลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ ทหารข่าของฝรั่งเศสบางหน่วยยังนิยมใช้หน้าไม้เป็นอาวุธอยู่ ปัจจุบันในแขวงสุวรรณเขต แขวงสาละวันและแขวงอัตปือ ของลาว ก็ยังมีข้ารัฐการที่เป็นพวกข่ารับราชการอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ อยู่ไม่น้อยใน
จังหวัดมุกดาหาร
เขตอำเภอเมืองมุกดาหาร ยังมีชาวไทยเชื้อสายข่า อยู่ที่บ้านพังคอง บ้านนาเสือหลาย และบ้านหนองยาง
ในท้องที่อำเภอดอนตาล มีชาวไทยเชื้อสายข่าอยู่ที่บ้านบาก
 ในท้องที่อำเภอดงหลวงมีชาวไทยเชื้อสายข่าอยู่ที่ ตำบลกกตูม บ้านสานแว้ บ้านคำผักกูด บ้านโคกกุง บ้านปากช่อง บ้านหินกอง ซึ่งในเขตภูพานต่อเขตกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัด สกลนคร จนมีคำกล่าวในอดีตว่า บ้านคำผักแพว แปวป่องฟ้า
พาเซโต โซไม้แก่น แท่นหินลับ ซับห้วยแข้ แง้หอยมะบาน ด่านสามหัวขัว น้ำบ่อบุ้น ยางสามต้น อ้นสามขุย
ซึ่งปัจจุบันเป็นนิคมสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์ ที่อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
ได้อพยพพวกไทยข่า (บรู) จากภูพาน ซึ่งเป็นรอยต่อ 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร จำนวน หลายร้อยครอบครัว ไปอยู่ที่ หมู่บ้านร่มเกล้า ของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยโดยได้จัดสรรที่ดินให้ทำกินและปลูกบ้านเรือนให้เป็นหมู่บ้านชาวไทยข่าตลอดทั้งได้ช่วยเหลือให้ราษฏรเหล่านี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านที่เท่าเทียมกับหมู่บ้านอื่น ๆ
  วิถีชีวิตและอุปนิสัย ชาวไทยข่าเป็นชนเผ่าที่ขยันขันแข็ง หมั่นเพียรสูง มีความอดทน มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง
 ในอดีตนั้นภาษาของชาวไทยข่า ไม่มีโคลงเคล้าของภาษา อีสานปนอยู่เลย ชาวไทยข่านั้นเป็นชนเผ่าที่มีวิถีชิวิตที่เรียบง่าย ไม่ค่อยออกพบปะกับชาวตางถิ่นมากนัก ค่อนข้างจะเก็บตัวอยู่ในเผ่าของตัวเอง ไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใครง่ายนักโดยเฉพาะคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น แต่ถ้าคนไหนเป็นที่ไว้วางใจและเชื่อใจจากชาวไทยข่า ก็จะได้มิตรไมตรี และมิตรแท้ เหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครับของชาวข่า และสามารถตายแทนกันได้ ฉะนั้นหากคนแปลกหน้าต่างถิ่นเข้าไปในชุมชนของชาวไทยข่า ถ้าต้องการมิตรแท้จากชนเผ่า จะต้องพกเอาความรักความจริงใจ เข้าพบปะกับชนเผ่าและจะได้ มิตรแท้ และไมตรีจิตกลับมาอย่างแน่นอน
  จารีตประเพณีของชาวข่า (บรู) การสู่ขอเพื่อขอแต่งงานต้องมีล่าม 4 คน(ชาย 2 หญิง 2)
เทียน4 เล่ม และเงินหนัก 5 บาท เมื่อแต่งงานต้องมีเหล้าอุ(เหล้าไห) 2 ไห ไก่ 2 ตัว ไข่ 8 ฟอง เงินหนัก 2 บาทหมู 1 ตัว และกำไรเงิน 1 คู่การทำผิดประเพณี (ผิดผี) เช่น
 ห้ามภรรยา เข้าห้องนอนก่อนผัว ห้ามลูกสะใภ้รับของจากพ่อผัวห้ามลูกเขยที่เข้าออกในบ้านออกจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง
ห้ามลูกเขยพกมีดหรือสวมหมวกเข้าบ้านพ่อตา หรือกินข้าวร่วมกับแม่ยาย การผิดจารีตประเพณี(ผิดผี)เช่นนี้ ลูกเขยต้องใช้เงิน 5 บาท หมู 1 ตัว ดอกไม้ธูปเทียน 2 คู่บุหรี่พื้นบ้านมวนด้วยใบตอง 2 มวนหมากพลู 2 คำ นำไปคารวะต่อผี (วิญญาณ)ของบรรพบุรุษที่มุมบ้านด้านตะวันออก หรือที่เตาไฟ
หากเป็นลูกสะใภ้ก็ต้องใช้ผ้าขาวม้า 1 ผืน ผ้าซิ่น 1 ผืน ดอกไม้ธูปเทียน 2 คู่ หมากพลู2 คำ บุหรี่ใบตอง 2 มวน ไปคารวะ ต่อผีเช่นเดียวกัน

  จำนวนนับใกล้เคียงกับภาษากูยและโส้

                   เขมร           กูย,กวย         โส้              บรู

หนึ่ง             มวย                          มูย                     มวย                 มวย                             
สอง              ปีร                           เบีย                   บาล                บารร
สาม            เบ็ย                            ปัย                    ปัย                   ปัย
สี่                  บวน                       ปอน                    ปูน                  โปน
ห้า            ปรัม                           เซิง                      ซืง                  เซิง 
หก            ปรัม มวย                  ตะผัด                                       ตะปรั๊ด
เจ็ด            ปรัม ปี                      ตะโผล                                     ตะปูล
แปด            ปรัม เบ็ย                 ตะขวล                                      ตะกวล
เก้า           ปรัม บวน                  ตะแข่ะ                                     ตะเก๊ะ
สิบ           ด๊อบ                           เจิ้ด                                         มันจิ้ด
สิบเอ็ด       ด๊อบมวย                  เจิ้ดมูย                                    มันจิ้ดละมวย
ยี่สิบ            มะพึย                     เฉียว                       
ยี่สิบสอง                                                                                    มันจิ้ดละบาร
หนึ่งร้อย     มะโรย                      มูยหรวย                                  มวยกะแซ
หนึ่งพัน       มะปวน                    มูยผัน                                     มันจิ้ดกะแซ
                                                                                              ขอบคุณ:http://www.hellomukdahan.com/thaikha/thailand-mukdahan-thai-kha-tribe-history-01.php

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จำนวนนับ กูย โส้ บรู เขมร

จำนวนนับ กูย โส้ บรู เขมร


จำนวนับ กูย บรู โส้ เขมรฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลและองค์กร

 

ภาษาใน จำนวนนับ มีความใกล้เคียงกัน เนื่องจาก ภาษาอยู่กลุ่มเดียวกันคือ ออสโตรเอเซยติก สาขา มอญ เขมร กลุ่ม กะตู

คำศัพท์                                          คำอ่าน
                                  
                   เขมร           กูย,กวย         โส้              บรู

หนึ่ง             มวย                          มูย                     มวย                 มวย                            
สอง              ปีร                           เบีย                   บาล                บารร
สาม            เบ็ย                            ปัย                    ปัย                   ปัย
สี่                  บวน                       ปอน                    ปูน                  โปน
ห้า            ปรัม                           เซิง                      ซืง                  เซิง
หก            ปรัม มวย                 ตะผัด                                       ตะปรั๊ด
เจ็ด            ปรัม ปี                      ตะโผล                                     ตะปูล
แปด            ปรัม เบ็ย                 ตะขวล                                      ตะกวล
เก้า           ปรัม บวน                 ตะแข่ะ                                     ตะเก๊ะ
สิบ           ด๊อบ                          เจิ้ด                                         มันจิ้ด
สิบเอ็ด       ด๊อบมวย                  เจิ้ดมูย                                    มันจิ้ดละมวย
ยี่สิบ            มะพึย                     เฉียว                      
ยี่สิบสอง                                                                                    มันจิ้ดละบาร
หนึ่งร้อย     มะโรย                      มูยหรวย                                  มวยกะแซ
หนึ่งพัน       มะปวน                    มูยผัน                                     มันจิ้ดกะแซ
                                                                                             

ไทยโส้กุสุมาลย์




วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชนเผ่าในศรีสะเกษ


พระธาตุเรืองรอง
krulop-krulop3.blogspot.com

ชนเผ่าในศรีสะเกษ

                 ประชากรชาวศรีสะเกษประกอบ ไปด้วยผู้คนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่  ลาว เขมร ส่วย เยอ ไทย จีน แขก แต่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนกลุ่มต่าง ๆ ที่สำคัญที่เป็นชนพื้นเมืองมาแต่ดั้งเดิมจะประกอบด้วย ลาว เขมร ส่วย เยอ
                 พัฒนาของชาติพันธุ์ในอดีต  ชุมชนโบราณที่พบร่องรอยมักเป็นเนินดินที่มีทั้งคูน้ำล้อมรอบและไม่มีคูน้ำล้อมรอบ กระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงการอยู่สืบเนื่องของผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ของศรีสะเกษคือ ชุมชนในยุคเหล็ก ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
                 ชุมชนขนาดใหญ่ที่มีอายุอยู่ในสมัยทวารวดีและสมัยขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๘ ลงมาคือชุมชนที่มีน้ำล้อมรอบสองชั้น มีการปั้นภาชนะดินเผา และมีใบเสมาหินที่มีอายุสมัยทวารวดี มีประสาทหินกระจายอยู่จำนวนมากทั่วเขตพื้นที่ แสดงให้เห็นอิทธิพลของขอม
                  การเติบโตและการขยายตัวของประชากรน่าจะพัฒนาขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชีตอนล่าง ซึ่งมีทุ่งราษีไศลเป็นส่วนหนึ่งก่อน แล้วจึงขยายตัวไปทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีเขตการคมนาคมติดต่อกับบ้านนอกภูมิภาคอื่นที่ไกลออกไป ทั้งในเขตพื้นที่ประเทศลาว เขมร และ ญวน

                  ชาวลาว ในจังหวัดศรีสะเกษ มีความสัมพันธ์กับชาวลาวในประเทศลาวเป็นอย่างมาก เพราะมีสายเลือด ภาษา ความเป็นอยู่แบบเดียวกัน แต่แยกย้ายกันด้วยการอพยพย้ายถิ่นที่เรียกกันว่าไปครัว ไปทำมาหากินในดินแดนอุดมสมบูรณ์ ดินด้ำชุ่มปลากุ่มบ้อนคือแข่แกงหาง ปลาซิวบ้อนคือขางฟ้าลั่น  ตลอดจนหนีภัยสงคราม หนีการทะเลาะวิวาท กดขี่ข่มเหงกัน และเนื่องจากประเทศลาวมีหลายเผ่าพันธุ์ การกล่าวถึงชาวลาวในจังหวัดศรีสะเกษ จึงจะกล่าวเฉพาะเผ่าไทลาวเท่านั้น ลาว หมายถึง คนไทยที่พูดภาษาลาว อันเป็นชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่โดยทั่วไปในภาคอีสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การละเล่นพื้นเมืองจึงเป็นแบบทั่วๆ ไป ที่ปฏิบัติกันในหมู่คนเหล่านี้ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ภาพจาก:http://www.m-culture.in.th/moc_new/

                 จากประวัติศาสตร์ชาติลาว ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗ ได้มีชนเผ่าไทจำนวนหนึ่งล่องเรือลงมาจากตอนใต้ของประเทศจีน ตามลำแม่น้ำแคว แม่น้ำอูและแม่น้ำโขง ลงมาประเทศลาว นำโดยขุนลอเข้ารบกับขุนกันฮาง จากขุนลอราชวงศ์ลาว ได้สืบทอดกันมาอีก ๒๐ รัชกาล จนถึงสมัยท้าวฟ้างุ้ม ได้สร้างอาณาจักรล้านช้างขึ้น มีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ และวัดได้กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมลาวตั้งแต่นั้นมา
                 ในสมัยอยุธยา ประเทศลาวเป็นพันธมิตรของอาณาจักรอยุธยา มีแบบการปกครองอยู่ที่นครเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ ได้สร้างนครเวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวงของลาวล้านช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓
                 ในปี พ.ศ.๒๒๓๗ ทางราชสำนักเวียงจันทน์เกิดแย่งชิงอำนาจกัน พวกราชวงศ์ลาวต้องลี้ภัยการเมืองไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้มีการสถาปนาอาณาจักรลาวใต้ขึ้นมา ณ นครจำปาศักดิ์นัคบุรี มีกษัตริย์เชื้อสายลาวที่อพยพลงมาครั้งนั้นขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.๒๒๕๖ แล้วจัดการปกครองหัวเมืองข่าทั้งปวงในเขตลาวใต้อันได้แก่ สาละวัน จำปาศักดิ์ อัตปือ และได้ส่งคนไปตั้งเมืองถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ถึงเมืองศรีนครเขต อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน
                ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พวกเจ้าลาวกลุ่มพระวอ พระตา ได้อพยพจากนครเวียงจันทน์ เข้ามายังบริเวณลุ่มน้ำมูล - น้ำชี
                ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ได้ชัยชนะ ได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์มาเป็นจำนวนมาก มาอยู่ที่ตำบลสิ ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมือง ฯ บ้านตาอุด บ้านโสน อำเภอขุขันธ์
                หลังจากชาวลาวได้เข้ามาตั้งหลักฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมทางภาษา เข้าไปยังชุมชนชาวพื้นเมืองที่เป็นชาวกวย เขมร และเยอมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันภาษาลาวได้กลายเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ แต่ลาวบางพวกใช้สำเนียงส่วย ที่ออกเสียงกลางเป็นเสียงตรี จึงมีการขนานนามจากชาวลาวในจังหวัดอื่นว่า ส่วยศรีสะเกษ

                  ชาวเขมร  ชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตนเองว่า ขแมร์ เรียกภาษาและชาติพันธุ์ตนเองว่า ขแมร์ลือ แปลว่า เขมรสูง เรียกภาษาเขมร และชาวเขมรในประเทศกัมพูชาว่า ขแมร์ - กรอม แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยหรือคนพูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ว่า ซีม หรือ เซียม ซึ่งตรงกับคำว่า สยาม ในภาษาไทย และคำว่า เซียม ในภาษากวย


                มีผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยอยู่เป็นจำนวนมากในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และทางอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และบางอำเภอในภาคตะวันออกของไทยคือจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว
                ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ มีประชากรชาวไทยเชื้อสายเขมรที่พูดภาษาเขมร อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ อยู่ประมาณ ๒๘๕,๕๐๐ คน เขมร ประวัติศาสตร์ใด้กล่าวไว้ว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ชาวเขมรได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ในพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขากล่าวว่า " เมืองเขมรขยายอิทธิพลได้ยึดเอาเมืองละโว้ เมืองพิมาย เมืองสุรินทร์และเมืองขุขันธ์ (ศรีสะเกษ ) เป็นลูกหลวงปัจจุบันชาวเขมรอาศัยอยู่ในท้องที่อำเภอขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ อำเภอไพรบึง อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอศรีรัตนะ ลักษณะการแต่งกายชาย เสื้อคอกลมผ่าหน้า นุ่งโสร่งสีสันต่างๆ ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ ผ้าขาวม้าที่ใช้ลายขาวดำเล็กกว่าที่คนลาวใช้ หญิง นุ่งผ้าถุงลายตั้ง มีเชิงตามขวางสองชั้น ชั้นส่วนบนกว้าง ส่วนล่างแคบ ระหว่างรอยต่อคาดด้ายสีแดง เสื้อดำย้อมด้วยมะเกลือ แขนกระบอกรัดรูป ตามรอยตะเข็บถักด้วยสีต่างๆ ชายเสื้อผ่าทั้งสองด้าน ยาวประมาณ ๖ นิ้ว กระดุมทำด้วยเงิน ผ้าคล้องไหล่เป็นสีต่างๆ ถ้าคล้องคอนิยมหย่อนชายผ้าขาวม้าข้างหน้า
                ชาวเขมรสูงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดศรีสะเกษมาแต่โบราณกาลแล้ว และได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยจะอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ ด้านที่ติดกับเขาพนมดงรักแถบบ้านทุ่งใหญ่ บ้านประทาย บ้านบึงมะลู บ้านโดนเอาว์ บ้านรุง บ้านทุ่งยาว เป็นต้น และบริเวณบ้านบักดอง บ้านพราน บ้านทุ่งเลน บ้านสำโรงเกียรติ บ้านไพร บ้านกระมัล บ้านกราม บ้านกันทรอม อำเภอขุนหาญ บ้านไพรบึง บ้านพราน บ้านสำโรงพลัน บ้านไทร บ้านไพรบึง อำเภอไพรบึง บ้านสำโรงระวี บ้านศรีแก้ว บ้านพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนบริเวณโดยรอบของปราสาทเขาพระวิหาร
                อีกบริเวณหนึ่งที่มีชาวเขมรอาศัยอยู่จำนวนมากคือ บริเวณแถบที่ราบลุ่มห้วยสำราญ แถบอำเภอขุขันธ์ ปรางค์กู่ เช่น ในเขตตำบลกันทรารมย์ หัวเสือ ใจดี โคกเพชร สะเดาใหญ่ อำเภอขุขันธ์ ตำบลละลม อำเภอภูสิงห์ ตำบลตูม สำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ บ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จนกระทั่งศรีสะเกษในอดีตได้ชื่อว่า เมืองเขมรป่าดง
                ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ.๒๓๒๔  เมืองกัมพูชาเกิดจลาจล จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปปราบ ในสงครามครั้งนี้เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ได้ร่วมยกกองทัพไปตีเมืองเสียมราฐ กำพงสวาย บันทายเพชร บันทายมาศ และได้นำชาวเขมรจำนวนมากมาไว้ที่สุรินทร์ และบุรีรัมย์
                ชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ แต่ในช่วงที่เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ กลับมาเป็นของไทยช่วงสงครามเอเชียบูรพา ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕ มีคนไทยที่เป็นชาวศรีสะเกษจำนวนหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานในกัมพูชา อย่างใดก็ตามในช่วงที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชากรณีปราสาทเขาพระวิหาร ราว พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๐๕ รัฐบาลไทยในสมัยนั้นยังมีนโยบายรับชาวเขมรที่ไม่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินไทย จึงทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับกัมพูชาบริเวณชายแดนศรีสะเกษจึงมีอยู่ตลอดมา
                ชาวเขมรสูง ส่วนมากอยู่ในชนบทมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง และในกรุงเทพ ฯ เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบอาชีพหลักของตน

                  ชาวส่วย (กูย)  มีกระจายอยู่หลายจังหวัดทางภาคอีสานตอนล่าง ที่มีอยู่หนาแน่นได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐  จังหวัดศรีสะเกษ ยังเป็นเมืองที่มีชาวส่วย (เรียกตนเองว่า กูย กุย โกย หรือกวย )  อาศัยอยู่กันทั้งเมือง มีพวกลาวเวียง (สาขาเวียงจันทน์) ปะปนอยู่บ้างบางหมู่บ้าน แต่วัฒนธรรมของชาวลาวได้เข้ามามีอิทธิพลในหมู่ชาวส่วย จึงทำให้มีการผสมผสานวัฒนธรรม

ภาพจาก huso.sskru.ac.th 

                    ภาษาส่วย  เป็นกลุ่มภาษาเดียวกับภาษามอญ - เขมรสาขาหนึ่ง ชาวส่วยแต่ละถิ่นจะมีการใช้สำเนียงภาษาที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าหากใช้ระบบเสียงมาเป็นเกณฑ์ ในการแบ่งอาจแบ่งภาษาส่วยออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มภาษากูย (กุย - กูย) และกลุ่มภาษากวย (กูย - กวย)  ปัจจุบันชาวส่วยส่วนใหญ่พูดได้ทั้งภาษากูย และภาษาไทยกลาง ในชุมชนส่วยที่ไม่มีผู้พูดภาษาไทยถิ่นอีสาน จะไม่มีการใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน ในชุมชนส่วยที่มีคนเขมร และคนลาวอาศัยปะปนกัน จะพูดภาษากันและกันได้
                     คนไทยรู้จักพวก กวย กุย กูย ในฐานะชนชาติหนึ่งมานานแล้ว ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.๑๙๗๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)  ได้ประกาศห้ามยกลูกสาวให้แก่คนต่างชาติ ต่างศาสนา ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ กบิตัน วิลันดา กุลา ชวา มลายู แขก กวย แกว และในมาตรา ๒๕ ของกฎหมายปีเดียวกันนั้น ก็กล่าวถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยาม ว่ามีแขกพราหมณ์ ญวน (แกว) ฝรั่ง อังกฤษ จีน จาม วิลันดา ชาว มลายู กวย ขอม พม่า รามัญ
                     ชาวส่วยชอบอพยพเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ เพื่อแสวงหาที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก การอพยพเข้ามาในประเทศไทยทางตอนล่างของภาคอีสาน เริ่มแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)  และได้มีการอพยพครั้งใหญ่เข้ามาในเขตจังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษ ในปลายสมัยอยุธยาจนถึงสมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๒๔๕ - ๒๓๒๖) ชาวส่วยแต่ละกลุ่มอพยพมาตั้งหลักแหล่ง หรือหาบริเวณล่าช้างแหล่งใหม่ เพราะมีความชำนาญในการเดินป่า และฝึกช้าง การอพยพได้หยุดลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                     ความเชื่อทางศาสนาของชาวส่วย มีลักษณะผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนากับการนับถือผี ในชุมชนชาวส่วยจะมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน บนบ้านจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ บางบ้านจะสร้างเป็นศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้กับศาลเจ้าที่ บ้านส่วนใหญ่จะมีห้องบูชาพระพุทธรูปไว้ในบ้าน และจะสร้างศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้บ้าน การเซ่นผีบรรพบุรุษจะทำอย่างน้อยปีละครั้ง
                     ส่วย เดิมเรียกว่า "กวย หรือ "กุย" ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณเมืองอัตปือแสนแป (ประเทศลาวในปัจจุบัน ) ต่อมาถูกพวกลาวแย่งที่ทำกิน จึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตอีสานใต้ พวกส่วยกลุ่มหนึ่งนำโดย " ตากะจะและเชียงขัน " ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ( ปัจจุบันคือบ้านดวนใหญ่ ) ปัจจุบันนี้พวกส่วยได้กระจายอยู่ตามพื้นที่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอกันทรารมย์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอไพรบึง อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ ลักษณะการแต่งกาย ชาย เสื้อคอกลมผ่าหน้า นุ่งโสร่งสีสันต่างๆ หรือกางเกงขาก๊วยสั้น ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ หญิง นุ่งผ้าถุง มีเชิง หรือไม่มี ผ้ามัดหมี่หรือผ้าฝ้าย เสื้อแขนกระบอกสีสันต่าง ๆ ผ้าเบี่ยงเป็นผ้าขาวม้าหรือผ้าลายลูกแก้วสีครีมดำ

ชาวส่วยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับชาวกูยซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์หนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ประเทศอินเดีย ที่อพยพมาตั้งถิ่นบริเวณตอนเหนือเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา เป็นชนชาติที่พูดภาษา ตระกูลมอญ-เขมร  ชาวส่วยมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียนหรือตัวอักษรที่เป็นของตนเอง  ลักษณะทั่วไป  จะผิวดำ  ผมหยิก  สูงปานกลาง  ร่างบึกบึน  ชาวส่วยที่ผสมกับพวกนิกรอยด์  ผมจะหยิกมาก  และสีผิวดำมาก  ส่วนที่ผสมกับกลุ่ม ไทย-ลาว  จะมีผิวขาว ชาวส่วยมีการผสมกลมกลืนกับชนชาติอื่นๆจนทำให้เกิดลักษณะทางร่างกายเปลี่ยน แตกต่างจากเดิม ในช่วงพุทธศตวรรษที่  ๒๐ เขมรได้ใช้อำนาจทหารปราบรัฐอิสระของชาวส่วย เพื่อผนวกอาณาจักรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งทำให้ชาวส่วยต้องอพยพหนีเพื่อแสวงหาที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก  จึงมีการอพยพขึ้นเหนือ สู่เมืองอัตปือ แสนแป จำปาศักดิ์และสารวัน จากหลักฐานพงศาวดารเมืองสุรินทร์ ชาวส่วย ได้อพยพโยกย้ายมาจาก อัตปือ แสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ และมีการกระจายกันไปหลายกลุ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งบอกไว้ว่า ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานแถบ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ คนส่วยอพยพเข้าไทยครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา(พ.ศ.๒๒๔๕) และมีหัวหน้าของตนเอง  คนพื้นถิ่นไทยเรียกชาวส่วยว่า “เขมรป่าดง”  และชาวส่วยเรียกตนเองว่ากุย กูย โกย หรือกวย แปลว่า “คน” ปัจจุบัน พบคนกูย  ได้ในเขต จังหวัด บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครราชสีมา มหาสารคาม อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี  ชาวส่วยที่อาศัยในภาคอีสานของไทยนั้น เรียกตัวเองว่ากุย หรือกวย แบ่งออกเป็น  ๔ กลุ่มด้วยกัน โดยใช้คำว่ากุยนำหน้า คือ

1.      กุยมะไฮ  อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี  อาศัยอยู่ใกล้ภูเขา และเรียกตนเองว่า ชาวบรู อยู่เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

2.      กุยมะลอ  อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และศีรษะเกษ

3.      ชาวกุยโย หรือ เยอ  อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี และศรีษะเกษ

4.      ชาวกูยมะลัว  หรือมะหลั่ว  อาศัยอยู่จังหวัดศรีษะเกษ และสุรินทร์

           ชาวส่วย มีลักษณะนิสัยเป็นคนสุภาพ  อ่อนน้อม  และซื่อสัตย์ ด้วยสภาพการตั้งถิ่นฐานที่ปนอยู่กับชาวเขมรและชาวลาวทำให้ถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  บ้านของชาวส่วยจะมีลักษณะใต้ถุนสูง  ด้านหน้าสูงไว้เลี้ยงช้าง  ใต้ถุนใช้เป็นที่วางหูกทอผ้าวางกระด้ง  และวัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่

            ชาวส่วย มีความเชื่อนับถือวิญญาณ ได้แก่ ภูตผี เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา และมีความเชื่อเรื่องปอบและเรื่องขวัญ  ในหมู่บ้านจะมีแม่เฒ่าทำหน้าที่ดูแลความเจ็บไข้  เพราะชาวเพราะเชื่อว่าการเจ็บไข้  เกิดจากการกระทำของผี  จึงมีการอ้อนวอนให้ผีพอใจ  โดยมีการรำ ผีมอ ผู้ที่รำผีมอต้องผ่าพิธีไหว้ครู ครอบครู นอกจากนี้ชาวกูยยังมีพิธีไหว้พระแข สันนิษฐานว่า เป็นพิธีที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร  เป็นพิธีเสี่ยงทายเพื่อดูปริมาณน้ำฝนที่ตกในเดือนต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังนิยมเลี้ยงช้าง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  ชาวส่วยจะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกว่า “โพนช้าง” เป็นการจับช้างโดยหมอช้าง ใช้บ่วงบาศก์ที่เรียกว่า “เชือกประกำ” ทำจากหนังควายถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณ บรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์คล้องเท้าช้าง แล้วผูกกับต้นไม้ นำช้างมาฝึกใช้งาน  การคล้องช้างมีปีละครั้ง ช่วงเดือน  ๑๑-๑๒ ช้างที่ตายลงจะมีการฝังอย่างดี และจะขุดกระดูกขึ้นมาทำพิธีอุทิศส่วนกุศล ไปให้

            การแต่งกายของชาวส่วย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู  นิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย  เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางหระรอกมีสีเดียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีการที่สำคัญ  ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า  เหมือนการนุ่งโสร่ง  ผ้านุ่งของหญิง นิยมทอหมี่คั่น เป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล หัวซิ่นเป็นพื้นแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดง  และมี ผ้าจะกวี  เป็นผ้าคล้ายอันลูซีม ของเขมรเป็นลาทางยาว เป็นผ้าที่ผู้หญิงใช้นุ่งในงานสำคัญๆ

            ชาวส่วยรับประทานข้าวจ้าวเป็นอาหารหลัก และรับประทานข้าวเหนียวเป็นบางครั้ง อาหารที่พบเห็นและรับประทานเป็นประจำได้แก่  ตำพริก แกงกบ อาหารอื่นๆ ได้แก่ เขียด กิ้งก่า เอามาสับ ย่างและตำน้ำพริก มดแดงเอามาคั่วใส่พริก มะนาว น้ำปลา กะปิ เกลือ เป็นต้น  อาหารดิบที่บริโภค กุ้งฝอย ปลาซิว เรียก “กาผุห์” ผู้หญิงสูงอายุนิยมเคี้ยวหมากและพลู นอกจากนี้ยังเก็บลูกไม้ชนิดหนึ่งมาเคี้ยวกับหมาก เรียกว่า “ปลัยการ” ชาวส่วยมีการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และมีการล้มวัวควาย ในงานพิธีต่างๆ เช่น เซ่นไหว้บรรพบุรุษ งานบวช เป็นต้น

ภาพจาก www.isangate.com


               ชาวเยอ  เป็นชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ - เขมร  เรียกตนเองว่า กวย มีความหมายว่า คน ชาวเยอจัดอยู่ในกลุ่มของชาวกูย มีภาษาพูดเดียวกัน มีบางคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน  ชาวเยอทั่วไป จะสูงประมาณ ๑๖๕ เซนติเมตร ผิวดำแดง การตั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่จะตั้งในเขตใกล้ลำน้ำ หรือลำห้วย ชาวเยอในแต่ละหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ ปกติชาวเยอมีอาชีพทำนา แต่บางส่วนมีความชำนาญด้านการช่าง เยอ ปัจจุบันนี้ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอไพรบึง อำเภอราษีไศล อำเภอพยุห์ และบางส่วนของอำเภอศิลาลาด ลักษณะการแต่งกาย ชาย นุ่งโสร่งหรือผ้าสีต่างๆ เป็นโจงกระเบนมีผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ เครื่องประดับมีสร้อยคอ หญิง เสื้อแขนกระบอก คอกลมหรือคอตั้งสีสันต่าง ๆ นุ่งผ้าถุงโจงกระเบนมีเสื้ออยู่ด้านในสีสันต่าง ๆ แต่ไม่มีลวดลาย มีตุ้มหูเป็นเครื่องประดับ
                 ตำนานชาวเยอ ในจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มต้นที่พญากตะศิลา เป็นหัวหน้า นำคนเผ่าเยออพยพมาโดยทางเรือ มาตั้งเมืองคงโคก หรือเมืองคงในอำเภอราษีไศลปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล
                   
                  ชาวจีน  ชาวจีนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย เป็นพวกที่มาจากบริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน คือ บริเวณมณฑลฟูเกี้ยน มณฑลกวางตุ้ง และเกาะไหหลำ  บริเวณพื้นที่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีที่ราบทำการเพาะปลูกได้น้อย เนื่องจากมีภูเขาคั่นอยู่ทำให้การติดต่อภายในประเทศ ไม่สะดวกจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในต่างประเทศ


                          ชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในปลายสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลทางใต้
                    ในระยะแรก ชาวจีนส่วนใหญ่ได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลของอ่าวไทย ตั้งแต่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ไปจนถึงไทรบุรีในภาคใต้ ส่วนในภาคกลางได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามลำน้ำบางปะกง จนจดปราจีนบุรี รวมทั้งตามลำน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนไปจนถึงปากน้ำโพ และตามลำน้ำแม่กลอง ไปจนถึงกาญจนบุรี เฉพาะในกรุงเทพ ฯ เป็นแหล่งใหญ่ศูนย์กลางของสังคมชาวจีน และมีอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของคนจีนในไทย
                    ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมีอัตราสูงสุดในห้วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จำนวนคนจีนในไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๑ - ๒๔๗๔ มีอยู่ประมาณ ๑.๕ ล้านคน ต่อมาระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๔๘๘ มีชาวจีนเข้าเมืองในอัตราต่ำมาก อันเป็นผลมาจากสงครามจีน - ญี่ปุ่น และสงครามมหาเอเชียบูรพา รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลไทยในการกีดกันชาวจีนเข้าประเทศ หลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ระหว่าปี พ.ศ.๒๔๘๙ - ๒๔๙๘ มีชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทย เพิ่มมากขึ้นและเพิ่มขึ้นในทันที ที่สงครามสงบลงในปี พ.ศ.๒๔๘๙  ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้มีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลจีน ชาวจีนได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยได้ปีละ ๑๐,๐๐๐ คน แต่พอถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลไทยได้ลดลงเหลือปีละ ๒๐๐ คน และในปีต่อมา รัฐบาลไทยได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมคนต่างด้าวในอัตราสูงขึ้น
                    ชาวจีนในจังหวัดศรีสะเกษเกือบทั้งหมดเป็นจีนแต้จิ๋ว ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน ชาวจีนกลุ่มแรกเข้ามาอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ โดยเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาด้วยกองคาราวานเกวียน และบางกลุ่มด้วยการล่องเรือตามลำน้ำมูล มาขึ้นฝั่งที่เมืองราษีไศล แล้วเดินทางต่อด้วยเกวียนไปยังตัวเมืองศรีสะเกษ ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ในหน้าน้ำก็จะล่องทวนน้ำห้วยสำราญไปขึ้นฝั่งที่ท่าบ้านพันทา และท่าทางเกวียน เขตตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และเมื่อมีทางรถไฟ การอพยพของชาวจีนก็มีมากขึ้น อาชีพของชาวจีนคือการค้าขาย โดยเปิดร้านขายของ ดังนั้น แม้แต่คนไทยไปเปิดร้านขายของก็ถูกเรียกว่าเจ๊ก เช่น เจ๊กสี เจ๊กมา เจ็ก ดี ทั้งที่บุคคลผู้นั้นเป็นคนลาว คนส่วย คนเยอหรือคนเขมร ก็ตาม แต่มีอาชีพเปิดร้านขายของในชนบทถูกเรียกว่าเจ๊กทั้งสิ้น
   บริเวณที่ตั้งของจังหวัดนี้เคยเป็นอู่วัฒนธรรมโบราณ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย จนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ได้แก่วัฒนธรรมทวารวดี,อาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณ,ล้านช้าง,อยุธยา และ รัตนโกสินทร์ ตามลำดับ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านหลุบโมก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล พบร่องรอยเมืองโบราณมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบสองชั้น ภายในเมืองมีซากโบราณสถานและใบเสมาอันแสดงถึงร่องรอยการนับถือพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังพบปราสาทและปรางค์กู่อีกหลายแห่ง โดยเป็นศิลปะเขมรราวพุทธศตวรรษที่ 13-17 รวมทั้งชุมชนเขมรโบราณ เช่น แหล่งโบราณคดีในเขตปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งอยู่รอบๆบารายหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ประจำชุมชนเขมรโบราณใน อำเภออุทุมพรพิสัย, แหล่งโบราณคดีบ้านหัวช้าง อำเภอไพรบึง ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาชนิดเนื้อแกร่ง ตกแต่งผิวด้วยการเคลือบสีน้ำตาล ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ข่า,กูย,กูยบรู ในจ.อุบลราชธานี


ข่า,กูย,กูยบรู ในจ.อุบลราชธานี    
ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานียังคงมีชนเผ่าพื้นเมืองเดิมในสายวัฒนธรรมมอญ-เขมร คือ ชนเผ่าข่า (บรู)   ชาวอีสานเรียกพวกที่อยู่ในป่าและใกล้ภูเขาว่า "ข่า" เป็นคำเรียกรวมๆ แต่เขาเรียกตนเองว่า "บลู" หรือ "บรู" ซึ่งแปลว่าภูเขา หรือคนที่อยู่ในป่าใกล้เขานั่นเอง ชนกลุ่มนี้มักอาศัยอยู่ตามป่าเขา ตามแนวริ่มฝั่งแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว  มีภาษาบรูเป็นภาษาพูดของตน (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 17)
ชาวบรูเป็นชนเผ่าที่อพยพเข้ามาจากประเทศลาว  และมีชาวส่วยส่วนน้อยอาศัยอยู่ด้วยกัน  ทั้งนี้อพยพมาจากบ้านหนองเม็ก  (ชาวป่าที่อพยพเร่ร่อน ทำไร่  และเลี้ยงสัตว์ตามป่าเขา  ที่สูง ) บ้านลาดเสือ  (ชาวที่ราบอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง) และบ้านเวินขัน (บ้านใหม่ตั้งระหว่างสองหมู่บ้าน)    เนื่องจากถูกกดขี่และให้ทำงานหนัก อีกทั้งยังต้องเสียภาษีให้ฝรั่งเศส จึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ทางฝั่งไทยตามริมแม่น้ำโขง เช่น ที่บ้านเวินบึก บ้านท่าล้ง และบ้านหนองครก อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ ตอนแรกอพยพมาอยู่ที่บ้านท่าล้งที่ขึ้นไปทางเหนือ  และบ้านหินครก (บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเวินบึกในปัจจุบัน) แต่เนื่องจากมีกรณีลักขโมยวัวควายของชาวบ้าน  ทางราชการจึงให้ราษฎรบริเวณบ้านหินครก  มาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านเวินบึก

ซิ่นจก ของไทข่า หรือ มอย ในลาวเหนือและเวียดนาม
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/

ชนเผ่าบรูหรือข่านี้  นับถือผีสาง มีทั้งผีประจำตัว ประจำครอบครัว  ประจำตระกูล  ประจำคุ้ม และประจำหมู่บ้าน  ซึ่งความสำคัญลดหลั่นตามฐานะของผี  เป็นเผ่าที่จารีตแปลกไปจากกลุ่มอื่น  เช่น ถ้ามีลูกชายเมื่อไปขอหญิงแต่งงานเป็นสะใภ้  ย่อมไม่ให้สะใภ้ขึ้นบนบ้านของย่า (แม่ของสามี)ตลอดชีวิต  ทั้งไม่ให้ใช้เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน  เช่น กระจก หวี น้ำมันแต่งผม แป้ง ฯลฯ นอกจากนั้นความเชื่อทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับภูติผีประจำตัว  และบ้านมีบันได 2 ทาง คือ  ขึ้นด้านหนึ่งแล้วไปลงอีกด้านหนึ่ง  ส่วนการไปแอ่วสาวบนบ้านของสาว  หากขึ้นบันไดไม่ถูกด้านแล้ว  อาจต้องทนคุยกับพ่อแม่ของสาวตลอดคืนแทนที่จะได้คุยกับสาวตามปรารถนาเป็นต้น (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 286 ; ศูนย์ข้อมูลสำนักศิลปะและวัฒนธรรมอำเภอราชธานี)

บรู เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย มีเฉพาะใน จ.อุบลราชธานี และเป็นชื่อเรียกภาษาอีกด้วย
ข่าบรู มิใช่ข่า แต่เป็นกูยกลุ่มหนึ่ง
บรู หรือข่าบรู  ถ้าเอาจริงๆ แล้ว 
เป็นกูยกลุ่มหนึ่งชาวบรูจริงๆไม่ใช่ข่า
ถ้าจะเรียกให้ถูก ควรเรียกว่า "กวยมะไฮ"
คนบรูถือว่าตัวเองมาสถานะสูงกว่าพวกข่าทั่วไปไม่ว่าจะเป็นข่าระแงะ ข้ากระเซ็ง
บรู อยู่ ในคนกูย 5 กลุ่มของไทยครับ ซึ่งมีดังนี้
1.กวยมะไฮ(บรู)
2.กูยมลอ
3.กวยมะลั่ว
4.กูยอาจีง(กูยช้าง)

5.กูยเยอ(คนเยอ)

ภาษาบรูจัดอยู่ในกลุ่มมอญ-เขมรเช่นเดียวกับภาษากูย (หรือส่วย) ดังนั้น ภาษาบรูจึงคล้ายกับส่วยหรือ
กูยมาก โดยเฉพาะศัพท์ต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้เหมือนกันแต่แตกต่างกันในการผสมคำ (ม.มหิดลกับสถาบันราชภัฎอุบลราชธานีได้ศึกษาไว้)  
ภาษาบรูมีเฉพาะภาษาพูดเท่านั้น  ไม่มีภาษาเขียน  การออกเสียงเป็นลักษณะเฉพาะเช่น “ร” นิยมออกเสียงในระดับต่ำกว่า ร ภาษาไทย  ตัวพยัญชนะ “ต”และ “ท”  ใช้ร่วมกันเพียงตัวเดียวโดยออกเสียงเป็นเสียงกลางๆระหว่างพยัญชนะทั้งสองเช่นเดียวกับ “ก”และ “ค” เป็นต้น  เช่น
ศรีษะ (เปรอ)         ฟัน (กะแนง)            ตา (มั๊ด)            เท้า (อาเยิง)
มือ (อาเตย)          ปาก (แป๊ะ)              ควาย (ตะเรี๊ยะ)     หมู (อะลี้)
คนลาว (เลียว)        เกลือ (บอย)            น้ำ (เด่อะ)          ข้าว (โด็ย)
ข้าวเหนียว (โด๊ยดิ๊บ)  ข้าวจ้าว (โด๊ยกะซาย)   เรือ (ทั๊วะ)          ฯลฯ
ส่วนการนับเลข  ไม่มีเลข 0 ในการนับ เช่น
1 (มวย)          2 (บารร)               3 (ไป)                4 (โปน)
5 (เซิง)           6 (ตะปรั๊ด)            7 (ตะปูลล)            8 (ตะกวลล)
9 (ตะเก๊ะ)        10 (มันจิ๊ด)            11 (มันจิ๊ดละมวย)    12 (มันจิ๊ดละบารร)
20 (บารรละจิ๊ด)  21 (บารรจิ๊ดละมวย)   22 (บารรจิ๊ดละบารร) 100 (มวยกะแซ)
1,000 (มันจิ๊ดกะแซ)      10,000 (มันจิ๊ดมันจิ๊ดกะแซ)
ภาษาบรูนับวันจะสูญสลายไปด้วยเหตุที่เด็กรุ่นใหม่นิยมพูดภาษาไทยอีสาน (สำเนียงลาวอุบลราชธานี) ปัจจุบันเหลือหมู่บ้านที่พูดภาษาบรูอยู่ 2 แห่งคือ บ้านท่าล้ง หมู่ 5 ต.ห้วยไผ่ และบ้านเวินบึก หมู่ที่ 8 ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม
ขอบคุณ : http://www.klonthaiclub.com/index.php?topic=19784.0
14 พ.ย. 2006 10:55น.