วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กูย (ส่วย) ในจังหวัดพิจิตร

กูย (ส่วย) ในจังหวัดพิจิตร
     กูย (ส่วย) ในจังหวัดพิจิตรย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ เนื่องจากฝนแล้ง โดยเข้ามาถางป่าจับจองที่ซึ่งยังไม่มีใครเป็นเจ้าของในเขตตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม หาเลี้ยงชีพด้วยการเผาถ่านและรับจ้างตัดอ้อย เมื่อได้เงินจะนำมาเช่าควายเพื่อทำนา ปัจจุบันกูยในจังหวัดพิจิตร ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ชุมชนบ้านยางตะพายตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี
วัฒนธรรมและประเพณี
     ประวัติศาสตร์ชนชาวกูย มีบทบาทสำคัญยิ่งในบริเวณอีสานใต้ ลาวใต้และกัมพูชาตอนบน มีความเป็นมาและมีการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผสมกลมกลืนกับชาวเขมร ลาว ไทย มาตลอด ชาวกูยในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานปนอยู่กับชาวเขมรสูง และชาวลาว ทำให้กูยถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรสูงและลาวซึ่งพอสรุปเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
ด้านบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
แต่เดิมบ้านของชาวกูยมีลักษณะใต้ถุนสูง ด้านหน้าเอาไว้เลี้ยงช้าง ใต้ถุนใช้เป็นที่ฟืมทอผ้า กระด้งไหม วัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ บางบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งที่ติดตัวบ้านเป็นยุ้งข้าว บางบ้านสร้างแยกต่างหาก

ด้านการแต่งกาย
     การแต่งกายชุดพื้นเมืองของชาวกูย (ส่วย) ในจังหวัดพิจิตร
ชาย จะใสโสร่งหรือกางเกงขาก๊วย สีคราม หรือสีดำ เสื้อผ้าฝ้าย เช่นเดียวกับเขมร มีผ้าขาวมาคาดเอวหรือโพกหัว
หญิง นุ่งผ้าซิ่นทอเอง ส่วนมากเป็นผ้าไหม เสื้อผ้าฝ้ายแขนกระบอกสีดำ
ปัจจุบันชายใส่กางเกงขายาวและเสื้อตามสมัยนิยมส่วนหญิงนุ่งผ้าซิ่นไหมสวมเสื้อตามสมัยนิยม เครื่องประดับประจำกลุ่ม เครื่องเงิน เช่น สร้อย กำไลข้อมือ
ด้านภาษา
กูย หรือ กวย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่พูดภาษา “ ออสโตรเอเชียติก ” ซึ่งมีเฉพาะภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน เรียกกันว่า “ ข่า ส่วย หรือกวย ” ซึ่งมีวัฒนธรรมด้านภาษาอยู่ในกลุ่มเดียวกันภาษากูยหลายคำ เมื่อรวมเข้ากับภาษาเขมรจะมีรากศัพท์ใกล้เคียงกับภาษาพูดของชาว “ ไทโส้ ” ที่อาศัยอยู่ในอำเภอ กุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ดังจะเปรียบทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างภาษาพูดของไทย เขมร ลาว ส่วย แยกตามหมวดหมู่ดังนี้

หมวดร่างกาย
ไทย                                        เขมร                                      ลาว                                        ส่วย
แขน                                       ได                                           แขน                                       แบง
ขา                                           จึง                                           ขา                                           ควง
จมูก                                        จะเมาะ                                  ดั่ง                                           มุ  ฯลฯ
หมวดสัตว์
ควาย                                       กะเบ้ย                                    ควย                                         กวี
วัว                                           โค                                           งัว                                           โฆ
ปลา                                        เตรย                                       ปา                                           อากา  ฯลฯ
หมวดผลไม้
ส้ม                                          โกรด                                      บักส่ม                                     ไปรโซม
กล้วย                                      เจก                                          ก้วย                                         ปรีด
มะม่วง                                   สะวาย                                    บักหม่วง                                ไปรของ  ฯลฯ
หมวดเครื่องใช้
หวี                                          กร๊ะ                                        หวี                                          กรา
แป้ง                                        อันเซา                                    แป้ง                                        ปง
ผ้าห่ม                                     โพย                                        ผ่าห่ม                                     ฉิกนุม  ฯลฯ
ตัวอย่างภาษาพูดของกูย (ส่วย)
ภาษาพูด                                แม๊ะ,นุ                                    แปลว่า                                   แม่,พ่อ
ภาษาพูด                                แม๊ะเฒ่า,นุเฒ่า                      แปลว่า                                   ยาย,ตา
ภาษาพูด                                นูโกน,แม๊ะโกน                   แปลว่า                                   ปู่,ย่า  ฯลฯ
ด้านการกินอยู่ (อาหาร)
อาหารที่นิยมรับประทานกันในกลุ่มชนส่วย ได้แก่

    ปลาจ่อม
    แจ่ว (น้ำพริก)
    แกงเปอะ
    แกงเผือก
    ขนมบัวลอย
    ข้าวต้มมัดตักใต้

ด้านความเชื่อและศาสนา
หนึ่งในความเชื่อของชาวกูย (ส่วย) ในชุมชนยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ยังนับถือเจ้าพ่อปู่ดำ ซึ่งเชื่อว่า เจ้าพ่อปู่ดำช่วยในเรื่องทำสิ่งใดให้ราบรื่น โดยจะทำเซ่นพิธีไหว้ปีละ ๒ ครั้ง ในเดือน ๓ วันพุธแรกของเดือน โดยเซ่นไหว้ด้วยข้าวสุก ไก่ตม ๑ ตัว เหล้า ๑ ขวด หมากพลู ๒ คำ ยาเส้น ๒ ม้วน และเดือน ๖ วันพุธแรกของเดือน เลี้ยงด้วยข้าวเปลือก แทนข้าวสุก นอกนั้นเหมือนเดือน ๓

ด้านคติชนวิทยา (เรื่องราวที่เล่า สืบทอดต่อๆ กันมา)
เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านยางตะพาย เดิมบริเวณหมู่บ้านนี้ชาวบ้านเรียกว่า หนองพักเกวียนทอง แต่เดิมที่บ้านยางตะพายมีต้นยางขึ้นอยู่มากมายมีชาวบ้านจากบุรีรัมย์และสุรินทร์ อพยพมาถากถางป่าจับจองที่ และตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ มีสามีภรรยาคู่หนึ่งพากันเดินทางไปตักน้ำมันยางจากต้นยางในป่าบริเวณหนองพักเกวียนทอง ภรรยาซึ่งตั้งครรภ์ท้องแก่ใกล้คลอดเกิดเจ็บท้องและคลอดลูกในป่ายาง สามีจึงนำผ้าขาวม้าที่นำติดตัวมาสะพายลูกและน้ำมันยางกลับบ้าน ชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อที่แห่งนั้นว่า บ้านดงยางสะพาย ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น ยางตะพาย และเรียกสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
ด้านประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต

    พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด
    พิธีกรรมสู่ขวัญคนเจ็บป่วย
    พิธีกรรมขอขมาคนป่วยใกล้ตาย
    พิธีกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าน
    พิธีกรรม “แกลมอ”
    ประเพณีการสู่ขอ
    ประเพณีการแต่งงาน
    ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่

ประเพณี เทศกาลการละเล่นประจำท้องถิ่น

    ประเพณีถวดแท่น (ทอดกฐิน)
    เทศกาลสงกรานต์
    การละเล่นพื้นบ้าน

ด้านอาชีพและเครื่องมือเครื่องใช้
อาชีพของส่วยที่ชุมชนบ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนใหญ่ที่ยังคงประดิษฐ์ขึ้นเองจะมีอยู่น้อยมากและยังคงเหลือให้เห็นอยู่เป็นบางชิ้น เช่น

    กระตะ
    ครุ
    อะกรอะ
    อะตะโยน
    ต่องแพละ

ที่มา: หนังสือ ๑๐ ชาติพันธุ์ในจังหวัดพิจิตร  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร

กูยบ้านตรึม อ.ศีขรภูมิ

กูยบ้านตรึม อ.ศีขรภูมิ
บ้านตรึม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ จากบันทึกการเดินทางในลาวภาคสอง พ.ศ. ๒๔๔๐ ของเอเตียน แอร์มอนิเยร์ นักสำรวจชาวฟรั่งเศษที่เดินทางเข้ามาสำรวจหาศิลาจารึกในภาคอีสานขณะนั้นบันทึกว่า "...สรกตรัมมีกระท่อมของคนเผ่ากูยเมโล(มะหลั่ว) อยู่ ๑๐๐ กว่าหลัง..." ในขณะที่ปัจจุบันเป็นชุมชนหมู่บ้านชาวกูยขนาดใหญ่จนชาวกูยบริเวณนั้นเรียกว่า "เซาะผืด"  หรือบ้านใหญ่มีครอบครัวชาวกูยอาศัยอยู่ราว ๓๔๐ หลังคาเรือน แบ่งเขตการปกครองเป็น ๒ หมู่ คือ หมู่ ๑ และ หมู่ ๑๖ มีประชากรประมาณ ๒,๐๐๐ คน จากการบอกเล่าของชาวกูยบ้านตรึมสืบต่อกันมาว่า เดิมอาศัยอยู่บ้านกู่ อ.ปรางกู่ จ.ศรีสะเกษ อพยพมาอยู่ที่ปัจจุับันเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว
         บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเรียกว่า "เนินโคกคราม" สภาพพื้นที่เป็นป่าทึบติดต่อกันกว้างใหญ่ มีหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เช่น เก้ง กวาง หมูป่า สุนัขจิ้งจอก สัตว์เลื้อยคลานประเภท เต่า ตะกวด และนกป่านานาชนิด เช่น นกกระสา นกเป็ดน้ำ เป็นต้น
         หมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอศีขรภูมิ ห่างจากตัวอำเภอราว ๑๘ กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นพื้นที่สูงลาดไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก มีหนองน้ำธรรมชาติสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบารายที่กักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภคของชุมชน
         บริเวณที่เป็นเนินดินขนาดใหญ่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอารยธรรมเก่าแก่ถูกฝังจมกองดินกระจัดกระจายจำนวนมากคือ ใบเสมาหินขนาดกว่าง ๘๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑๓๐ เซนติเมตร หนา ๒๙ เซนติเมตร เสมาหินเหล่านี้เป็นโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ซึ่งชาวบ้านได้เคลื่อนย้ายมาตั้งกองรวมกันไว้ภายในวัด สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นที่ใช้ปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ครั้นพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาจึงถูกดัดเเปลงให้เป็นเสมา ใช้ปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา ภายหลังจึงถูกนำมาปักเป็นหลักบ้านทำหลังคาคลุมเป็นที่เซ่นสรวงบวงพลีกราบไหว้บูชาของชุมชนสืบต่อมา

ความคิดความเชื่อของชาวกูยบ้านตรึมในยุคโลกาภิวัฒน์
         ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ดั้งเดิมของหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่าชาวบ้านตรึมมีคติความเชื่อในการนับถือหมูป่าเป็น "อาหยะ"หรือหยะจั๊วะ   หรือผีประจำหมู่บ้าน เมื่อออกไปล่าสัตว์ได้หมูป่าและสัตว์อื่นๆ จะตัดหูมาไว้ที่บ้านเฒ่าจ้ำ คือ หัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมาหมูป่าถูกล่าจนหมดป่า แล้วจึงเกิดภัยแล้งขึ้น ชาวบ้านจึงร่วมกันทำพิธีทรงเจ้าหาสาเหตุจึงรู้ว่าผีประจำหมู่บ้านไม่พอใจและหนีกลับไปปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเดิม อยู่ในร่างตะกวด ชาวบ้านขณะนั้นจึงขอให้หัวหน้าหมู่บ้านไปรับตะกวดกลับมา
         นับตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านตรึมจึงนับถือตะกวดเป็นตัวแทนอาหยะ คือ ผีปู่ตา หรือผีประจำหมู่บ้าน ตะกวดจึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เสมือนบรรพบุรุษชาวบ้านตรึมไม่ทำร้ายและไม่กินตะกวด
         ชาวกูยบ้านตรึมยังใช้ลูกตะกวดที่เกิดในปลายฤดูหนาวมาใช้ในการเสี่ยงทาย ทำนายฝนฟ้าจากปล้องสีที่ห่างลูกตะกวด หากสีเหลืองเป็นปล้องยาวนั่นหมายความว่าในปีนั่นฝนฟ้าจะแล้ง
         อีกหนึ่งในคติความเชื่อของชาวกูยบ้านตรึม คือ "พิธีแกลมอ" เป็นพิธีที่สืบเนื่องจากความเชื่อว่า ชาวกูยทุกคนมีดวงวิญญาณของบรรพบุรุษคอยปกป้องคุ้มครอง ปกปักษ์รักษาอยู่ตลอดเวลา ในทุกๆปี ชาวกูยจะจัดให้มีพิธี "แกลมอ" เพื่อบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจ ซึ่งพิธีแกลมอมีสาระสำคัญ ๓ ประการ คือ
         ๑) การบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ
         ๒) ประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาผู้ป่วย เป็นการเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือแนะนำผ่านเฒ่าจ้ำหรือคนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วยและหาทางรักษาตามความเชื่อ
         ๓) การประกอบพิธีกรรมเพื่อเป็นการแก้บน หรือสักการะตอบแทนดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ดลบันดาลให้ได้รับความสำเร็จตามคำขอของลูกหลาน
         ภายใต้กระแสยุคโลกาภิวัฒน์ พิธีกรรมแกลมอ เป็นพิธีกรรมที่ส่งผลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขของคนในชุมชนโดยผู้นำประกอบพิธีกรรม หรือแม่หมอทำหน้าที่ในการอัญเชิญดวงวิญญาณประทับร่าง มี แคน กลอง เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะในการร่ายรำประกอบพิธีด้วยนางรำตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีเครื่องบวงสรวงเซ่นสังเวย ๑ ชุด  ประกอบด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ พานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียน เงิน ทอง เหล้า บุหรี่ หมากพลู ชุดขันธ์ ๕ ดาบ ๑ เล่ม ไข่ไก่ ๑ ฟอง ข้าวสาร และเครื่องประกอบอื่นๆ
         พิธีกรรมเริ่มด้วยการอัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษเข้ามาประทับร่างแม่หมอ หรือคนทรง แม่หมอจะโยกสั่นไปทั้งร่าง จากนั้นลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีผูกข้อมือให้แม่หมอพร้อมแจ้งความประสงค์ที่ได้อัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาเข้าทรง จากนั้นแม่หมอหรือคนทรงจะดื่มกินเครื่องเซ่นสังเวย ก่อนจะลุกขึ้นฟ้อนรำไปรอบเครื่องสักการะ ผู้ร่วมอยู่ในพิธีก็มีอาการเข้าทรงตัวสั่นตามกัน จนคนที่อยู่ใกล้ๆ เอาได้มาผูกข้อมือรับ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวก็จะลุกขึ้นฟ้อนรำเช่นเดียวกับแม่หมออย่างเอาจริงเอาจัง กินเวลานานข้ามวันข้ามคืน
แกลมอ กูยบ้านตรึม อ.ศรีขรภูมิ

บทสรุป
 ชุมชนชาวกูยบ้านตรึมเป็นชุมชนใหญ่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ยาวนาน สืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน สะท้อนความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ วิถีชิวิตกลุ่มชาติพันธุ์กูย ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ รากเหง้าทางวัฒนธรรม ดำรงอยู่ภายใต้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่มีความแตกแยกทางสังคม มั่นคงยั่งยืน สืบทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบพอเพียง เป็นแบบอย่างในการดำรงอยู่ของสังคมประเทศชาติได้อย่างเหมาะสม มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น ลาว เขมร จีน ไทย ยอมรับในกติกาทางสังคม สะท้อนออกจากพิธีกรรมการแกลมอ เคารพในธรรมชาติด้วยการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้สัตว์ประจำชุมชน ตลอดจนความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน ปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างเหมาะสมเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณ;http://www.oknation.net/blog/surin-samosorn/2010/05/26/entry-1

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เรียนภาษากูย(จำนวนนับ)

 จำนวนนับ

 1  มูย   หนึ่ง
 2 เบีย   สอง
 3 ไป   สาม
 4 ปอน  สี่
 5 เซิง   ห้า
 6 ตาผัด   หก
 7 ตาโผล  เจ็ด
 8 ตาขวล  แปด
 9 ตาแข็ะ  เก้า
 10 เจิ๊ด  สิบ
20 เฉียว    ยี่สิบ
100 มูยหรวย  หนึ่งร้อย
200 เบียหรวย   สองร้อย
300 ไปหรวย     สามร้อย
400 ปอนหรวย  สี่ร้อย
500 เซิงหรวย    ห้าร้อย
600 ตาผัดหรวย  หกร้อย
700 ตาโผลหรวย  เจ็ดร้อย
800 ตาขวลหรวย  แปดร้อย
900 ตาแข็ะหรวย  เก้าร้อย
1000 มูยผัน        หนึ่งพัน

ขอบคุณภาพ:http://innovation.kpru.ac.th/web18/551121825/innovation/index.php/5

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประเพณีและวัฒนธรรมกูย

 ประเพณีและวัฒนธรรมกูย
     ชาวกุยเป็นเผ่าพันธุ์ ที่รักอิสระและชอบการผจญภัย ตามที่มีผู้กล่าวว่า.. “กองกำลังสุรินทร์ในอดตีจะประกอบ ไปด้วยกำลังพลที่เป็นกูยสุรินทร์ เขมรสุรินทร์ และลาวสุรินทร์ ทั้งสามสายเลือดอาจมีความแตกต่างกันบ้านโดย พื้น ฐานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์วิทยา แต่ความแตกต่างดังกล่าว กลับกลายเป็นความหลากหลายของความเป็น สุ รินทร์ มีทั้งความชอบเสี่ยงตายอย่างเขมร ชอบอาสาอย่างลาว และความรักอิสระอย่างกูย ผสมผสานเป็นวัฒนธรรม ทางจิตใจของชาวสุรินทร์ที่มีให้เห็นโดดเด่นอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์เสมอ มา”(จากสุรินทร์ แหล่งอารยธรรมโบราณ) 
แกลมอ

    บรรพบุรุษชาวสุรินทร์สายนี้ คือ ผู้นำวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับช้างเข้าสู่บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนกลาง วัฒน ธรรมการเลี้ยงช้างเน้นคุณธรรมว่าด้วยการมีสัมมคารวะ การยึดมั่นใจข้อตกลงร่วมกัน การหลีกเลี่ยงพฤติกรรม สำส่อนทางเพศ ตลอดจนความเมตตาสงสารสัตว์ แม้จะดูว่าเต็มไปด้วยบทบัญญัติและข้อห้าม แต่ก็ล้วนเป็นข้อที่ ควรคำนึงถึงทั้งสิ้น ยึดเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เป็นข้อห้ามเพื่อชีวิตและความอยู่รอด จึงไม่มีใครปฏิเสธหรือไม่เห็นคุณค่า วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างอบรมให้คนสุรินทร์เป็นคนซื่อสัตย์ เสีย สละ รักเพื่อน รักธรรมชาติ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมจนเกินตัว สุรินทร์ไม่ได้มีเฉพาะชาวกูยเลี้ยงช้างเท่านั้น ในจำนวนประชากรชาวกูยด้วยกัน ชาวกูยที่เลี้ยงช้างมีสัดส่วน ไม่ถึงร้อยละ 10 นอกนั้นเป็นชาวกูยที่ทำนาทำสวน สตรีชาวกูยแทบจะไม่มีบทบาทในวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างเลย นอกจากการต้องถือ “ขะลำ” อย่างเคร่งครัดเวลาสามีออกป่าไปโพนช้างเท่านั้น ส่วนใหญ่จะมีทักษะอย่างสูงในการ ทอผ้าไหม เชื่อกันว่า สตรีชาวกูยแห่งเมืองสุรินทร์มีความสามารถในการทอผ้าไหมมัดหมี่ อย่างหาตัวจับยากทีเดียว ชายหรือเชิงผ้าซิ่นมัดหมี่อันปรมที่ขึ้นชื่อของชาวเขมรสุรินทร์ เป็นเพียงหนึ่งในหลายลายของผ้ามัดหมี่ของชาวกูย เท่านั้นเอง แต่เพราะวัฒนธรรมการครองชีวิตในสังคมกูยที่คลุกและแปดเปื้อนอยู่กับดิน ทำให้หญิงชาวกูยไม่นิยม แต่งตัวด้วยอาภรณ์และเครื่องประดับมีค่า 

แซนโฏนตา พิธีกรรมเซ่นไหว้ลำรึกบรรพบุรุษของชาวกูย,เขมร


ปัจจุบัน มีชาวกูยอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ไม่น้อยกว่า 400หมู่บ้านโดยกระจายอยู่ในแทบจะทุกอำเภอ กล่าว ได้ว่าจังหวัดสุรินทร์เป็นถิ่นที่มีชาวกูยอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย และหากถือว่าชาวกูยเป็นชาติพันธุ์เก่าแก่ที่ สุดของโลกเผ่าหนึ่ง สุรินทร์ก็จะเป็นดินแดนที่มีชาติพันธุ์นี้อาศัยอยู่มากที่สุดในโลก


แซนโฏนตา

(เรียบเรียงจาก “สุรินทร์” แหล่งอารยธรรมโบราณ” และ “สุรินทร์ มรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย โดย ศรันย์ บุญประเสริฐ)

ที่ มา : “เสาวลักษณ์” . “ทำขวัญลูกช้าง” ศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์ของ กุย – อะจีง . หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 23 กรกฎาคม 2543 หน้า 5

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หมู่บ้านกูย บ้านตากลาง หมู่บ้านช้างสุรินทร์

หมู่บ้านกูย บ้านตากลาง  หมู่บ้านช้างสุรินทร์
สุรินทร์ . . . ถิ่นช้างใหญ่
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๔๕๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม - โอร์เสม็ด เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางท่องเที่ยว ติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน
จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เดิมเคยมีชุมชนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไว้จนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๒๖๐ ชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า กวย หรือ กูย ซึ่งอาศัยอยู่แถบเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งานเป็นอย่างมาก ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านเมืองลีง (อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์) บ้านโคกลำดวน (อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) บ้านอัจจะปะนึ่ง (อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์) และบ้านกุดปะไท (อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์) โดยแต่ละบ้านจะมีหัวหน้าควบคุมอยู่ จนกระทั่งประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๐๐ บรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ คือ เชียงปุม กับพวก ได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์จับช้างเผือกแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา นำน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้รับบำเหน็จความชอบโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็น หลวงสุรินทรภักดี
ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖ หลวงสุรินทรภักดี หรือ เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้ เจ้าเมืองพิมาย กราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จากสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ ๒ ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดี ได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็นเมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดีเป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็น เมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองเมืองสุรินทร์
สุรินทร์


จังหวัดสุรินทร์มีความเป็นมาได้ก่อร่างสร้างเมืองเกี่ยวเนื่องกับช้าง เป็นจังหวัดที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย คนสุรินทร์เลี้ยงช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว จึงมีวิถีชีวิต มีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงช้างในจังหวัดอื่น ๆ ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นมงคล เฉลียวฉลาด ชื่อสัตย์ อดทน กล้าหาญ ในอดีตช้างเคยเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ในการทำศึกสงคราม ในปัจจุบันช้างเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศในนาม “สุรินทร์ เมืองช้าง” มีงานแสดงช้างสุรินทร์เป็นงานประจำปีของชาติ มีหมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง และเป็นที่อาศัยของกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ที่เรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้าง ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้างมาแต่ดั้งเดิม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักในนาม “หมู่บ้านช้าง” ในอาณาบริเวณเขตตำบลกระโพมีช้างรวมกันอยู่ประมาณ ๓๐๐ เชือก


บ้านตากลาง...ถิ่นช้างเมืองสุรินทร์
หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๔ เส้นทางสายสุรินทร์ – ร้อยเอ็ด เลี้ยวซ้ายเมื่อถึง กม. ๓๖ เข้าปากทางบ้านกระโพ ลึกเข้าไปตามถนนลาดยางบนที่ราบใกล้แม่น้ำมูล และลำห้วยน้ำชี ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ก็จะถึงเขตหมู่บ้านช้าง พื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านช้างส่วนใหญ่จะเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกลับป่าโป่ง อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นป่าดงดิบสายทอ ทิศตะวันตกเป็นป่าดงดิบภูดิน ทิศเหนือของหมู่บ้านมีแม่น้ำ ๒ สายไหลมาบรรจบกัน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง บริเวณนี้จึงเหมาะสมกับการเลี้ยงช้างอย่างที่สุด

ชาวกวยเป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีมายาวนาน รักสงบ รักอิสระ มีความสามัคคี เป็นคนมีระเบียบวินัย มีเอกภาพในสังคม มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คือความอลังการอันน่าอัศจรรย์ ผสมผสานระหว่างคนกับช้าง

ก่อนปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ชาวกวยที่นี่จะมีอาชีพหลักคือ จับช้างป่ามาฝึกหัดไว้ใช้งาน ส่วนการทำนาจะทำเป็นอาชีพรอง คือทำเพียงแค่พออยู่พอกิน ในอดีตชาวกวยจะออกไปจับช้างปีละ ๒ – ๓ ครั้ง ๆ ละ ๒ – ๓ เดือน ซึ่งส่วนมากมักจะเดินทางไปจับในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา

หลังจากปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาและลาวได้ปิดพรมแดนลง ชาวกวยที่มี่อาชีพหลักคือ การจับช้างป่า ไม่สามารถไปจับช้างป่าเหมือนในอดีตได้ ก็หันมาทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงช้างอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข ช้างและคนได้อยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น การเลี้ยงช้างของชาวบ้านบ้านตากลางเป็นการเลี้ยงในลักษณะที่ช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน คนกับช้างมีความรักใคร่ผูกพันรู้จิตใจกันดังญาติสนิท แตกต่างจากการเลี้ยงช้างที่อื่นซึ่งเป็นเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน

ปัจจุบันแม้ชาวบ้านตากลางจะไม่ไปจับช้างแล้ว แต่ยังมีหมอช้างที่สืบทอดภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์อยู่ ผู้ที่ต้องการศึกษา เรียนรู้ ท่องเที่ยว สามารถพบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ ในการจับช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา ชีวิตของหมอช้างเป็นชีวิตที่ต้องมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง ชาวบ้านตากลางเป็นผู้มีความสงบเสงี่ยมสำรวม พูดน้อย ถ้าได้สนทนาด้วยแล้วจะทราบว่าเขาคือนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ บ้านตากลางยังเป็นสถานที่ฝึกช้างสำหรับแสดงในงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์เป็นประจำทุกปี และบ้านตากลางยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์คชศึกษา” พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับช้าง ภายใต้ศูนย์มีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง เช่น ทำจากเชือกประกำ เชือกคล้องช้างที่ทำจากหนังควาย ฯลฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ และช่วงที่น่าไปเยี่ยมหมู่บ้านช้างมากที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคมเพราะควาญช้างจะกลับมาเก็บเกี่ยวข้าว และนำช้างมาร่วมงานแสดงของจังหวัด ซึ่งจะมีช้างกลับมาอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก



วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บทบาทของพิธีแก็ลมอ

บทบาทของพิธีแก็ลมอ
บทบาทของพิธีแก็ลมอ แบ่งได้เป็น 2 ระดับคือระดับปัจเจกบุคคลและระดับชุมชน และสามารถแบ่งการประกอบพิธีกรรมออกเป็น 2 ลักษณะคือ ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมจะประกอบไปด้วยสมาชิกกลุ่มผีมอด้วยกันเท่านั้นและความสนุกสนานรื่นเริงเป็นการร่วมกันทั้งหมดโดยอาศัยแคนเป็นเครื่องดนตรีหลัก ในพิธีแก็ลมอยังมีการตีความระบบสัญลักษณ์ที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตในด้านการประกอบอาชีพ ถึงแม้วัฒนธรรมเมืองจะมีบทบาทต่อคนรุ่นใหม่แต่ พิธีแก็ลมอยังคงบทบาทสำคัญต่อระบบความเชื่อของกลุ่มชนชาวกูยอย่างสืบเนื่อง เห็นได้จากการการประกอบพิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ จึงเสมือนภาพสะท้อนที่ต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน


The roles of the ritual are divided into two levels: individual and community. The ritual is also divided into two parts. The first is the formality of the ritual and only members of the same Mor Spirit group are allowed to participate. The second is the joy and entertainment of all community members and the Khaen woodwind instrument is used. Furthermore, the ritual can be symbolically interpreted as the prosperity of their livelihood. Although urban culture has a significant influence on young generation, the ritual is still significant to the belief system of Kui Ethniccommunity. It has been practiced until the present day, connecting the past to the present.
ขอบคุณ:http://www.sac.or.th/

ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านม่วงหวาน ชุมชนกูยบุรีรัมย์

ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์
   “ชีวิตของชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง...โดยจะเน้นในเรื่องการใช้ชีวิต ทุกบ้านจะมีแปลงผักของตัวเอง จะเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา มีสระน้ำไว้ใช้ เรื่องอบายมุขก็มีน้อย...เรียบเรียงโดย ไกรศักดิ์ ศรีพนม

แนวทางการพัฒนาชุมชนที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแนวทางหนึ่งก็คือการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เน้นการเติบโตพ้อมกันในทุกๆด้านอย่างสอดคล้องและสมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
แนวทางดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนไปพร้อมๆกับการสร้างความมั่นคงในเรื่องปาท้องของคนในชุมชนดังตัวอย่างที่เกิดขึ้น ณ บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมของชาวไทย “กูย” เป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ
บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 14 และ หมู่ 15 ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นชุมชนชาวไทยกูยดั้งเดิมซึ่งอพยพมาจากบ้านเฉนียงและบ้านโงนกรอย ต.บึง อ.เมือง จ.สุรินทร์ มาตั้งแต่ปี 2494 โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า มีชาวบ้านจาก ๑๐ ครอบครัว ประมาณ ๗๐ คน ได้ออกเดินทางมาด้วยกันเพื่อหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่จนกระทั่งมาเจอพื้นที่ว่างข้างหนองน้ำบ้านแพงพวย ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคกมะม่วงหวาน” ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านกลุ่มนั้นจึงตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ร่วมกันสืบมาจนถึงทุกวันนี้
ในยุคแรกของการเดินทางเข้ามาตั้งรกราก ชุมชนแห่งนี้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของบ้านแพงพวย จนกระทั่งปี 2510 จึงได้แยกตัวออกมาตั้งเป็นบ้านม่วงหวานและต่อมาปี 2533 จึงแยกออกมาเป็นบ้านโคกเจริญอีกหนึ่งหมู่บ้าน แต่ด้วยความผูกพันของทั้งสองหมู่บ้านที่มีมานานจึงทำให้ทั้งสองหมู่บ้านยังคงร่วมมือร่วมใจกันทำกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านด้วยกันภายใต้ชื่อ บ้านม่วงหวาน – โคกเจริญ มาโดยตลอด
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านม่วงหวาน


ประเพณีวัฒนธรรมคือทุนสำคัญของชุมชน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดโคกเจริญเป็นศูนย์กลางความศรัทธาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมไปถึงการสืบสานความเชื่อและประเพณีที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดอาทิเช่น การเซ่นไหว้ปู่ตาประจำหมู่บ้าน, การแซนโดนตา, พิธีแต่งงานแบบพื้นบ้าน, การบวชนาค สำหรับผู้อาวุโสในชุมชนแห่งนี้ยังคงใช้ภาษากูยในการสนทนาพูดคุยเป็นหลักและมีความพยายามที่จะถ่ายทอดมายังลูกหลานในชุมชนโดยการรณรงค์ให้พ่อแม่พูดภาษากูยกับลูก

พ่อทองคำ แจ่มใส ผู้ใหญ่บ้านโคกเจริญ แกนนำคนสำคัญของชุมชนเล่าว่า “ชุมชนชาวกูยที่นี่ก่อตัวและเชื่อมร้อยกันอย่างเหนียวแน่นบนฐานวัฒนธรรมของชนเผ่า จึงทำให้คนในชุมชนมีความเคารพซึ่งกันและกัน รู้รักสามัคคี และนับถือคนเฒ่าคนแก่รวมทั้งผู้นำระดับต่าง ๆ ในชุมชน ยิ่งไปกว่านั้นการที่เป็นชุมชนอพยพเล็ก ๆ ท่ามกลางชนกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เขมร ลาวดังนั้นคนในชุมชนจึงเลือกที่จะแต่งงานกันเองภายในกลุ่มเครือญาติถือว่าเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติของคนในชุมชนให้เหนียวแน่นขึ้นไปอีก”
ขอบคุณ:http://www.esaanvoice.net/

ขอพรให้ท้องนา สืบรากชาวกูย

ขอพรให้ท้องนา สืบรากชาวกูย

         เป็นอารยะโดยการดูถูกรากเหง้าของตัวเองน่ะหรือ?
  ไม้ใหญ่จะยืนทะนงต้านแรงช้างสารได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง ถ้าไม่ดูแลรักษาเอาไว้ให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน:ดุริยกวี 5 แผ่นดิน หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)

        กระแสวัฒนธรรมยุคใหม่ที่มาจากสื่อต่างๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในชนบทไทย ทำให้การมองคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนวิถีชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษด้อยค่าลง โรงเรียนบางแห่งในชนบทจึงนำวิถีชีวิตดั้งเดิมเข้ามาเสริมในบทเรียน เพื่อให้นักเรียนภาคภูมิใจกับเอกลักษณ์ของชุมชน
    โรงเรียนบ้านกันตรง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชนบทชาวส่วย หรือกูย คนกลุ่มนี้มาอาศัยอยู่แถบอีสานใต้ กระจายกันอยู่ทั่วไปในเขตพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบจังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นคร ราชสีมา และบางส่วนของจังหวัดมหาสารคาม มีเอกลักษณ์ทั้งภาษาการแต่งกายและวัฒนธรรม โดยมีอาชีพทำการเกษตร ทำนา ปลูกข้าวเป็นหลัก
     เด็กๆ คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้จนอาจจะลืมคุณค่าของสิ่งที่ปู่ย่าตายายสืบทอดกันมา โรงเรียนจึงเกิดหลักสูตรการทำเกษตรแบบพอเพียงให้นักเรียนหัดทำนา โดยมีคุณครูพิเศษคือชาวบ้านและผู้ปกครองเข้ามาสอนลูกหลานตนเอง ความสนุกในการเรียนรู้แฝงไปด้วยความรู้สึกผูกพันกับคนในชุมชนเดียวกัน ด้วยความหวังของ อาจารย์พิณี หาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องการให้เด็กๆ ไม่หลงลืมความเป็นชาวนาของบรรพบุรุษ
แซนหญะจั๊ว (ขอพรให้ท้องนา)

      "เด็กนักเรียนทุกคนเป็นลูกชาวนา ไม่อยากให้ลูกหลานห่างเหินจากท้องนา จึงพยายามขับเคลื่อนเรื่องวัฒน ธรรม ประเพณี ปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิดมาตั้งแต่ปลายปี 2551 ให้เด็กนักเรียนพึ่งตนเองได้ เด็กๆ ทำนาเป็นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาได้คือความร่วมมือร่วมใจของคณะครู นักเรียน และผู้ปกครองที่มาช่วยลูกหลานลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกพืชผัก เป็น การสร้างความมีส่วมร่วมของคนในชุมชน เกื้อกูลช่วยเหลือกันและกัน" อาจารย์พิณีกล่าว

ศาลปะกำ

ศาลปะกำ คืออะไร ทำไมต้องกราบไหว้บูชาบอกกล่าว ศาลปะกำ


     มิได้เป็นเพียงหนังควายแห้งที่พันกันเป็นเกลียว เท่านั้น หากแต่หมายถึงวัตถุชนิดหนึ่ที่สมมติใช้เรียกแทนบรรพบุรุษผู้ทรงคุณค่า มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความสามารถทางคชศาสตร์คชเวท คชลักษณ์ ในการปฏิบัติต่อกฎระเบียบ อย่างเคร่งครัด จนได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นที่ยอมรับกันในหมู่คณะชุมชนคนเลี้ยงช้างด้วยกัน และมอบหมายให้ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางคชศาสตร์ตามลำดับ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ในขณะเดียวกันก็มิใช่เป็นเรื่องแสดงเล่น ๆ ให้ใครต่อใครได้ชมโดยง่าย มันเป็นเรื่องที่บริสุทธิ์ และศักดิ์สิทธิ์ ควรกระทำ ด้วยความระมัดระวังก่อนที่จะสายไปกว่านี้ พิธีกรรมต่างๆ ในชุมชนคนเลี้ยงช้างกวยอาเจียง ทุกอย่างมันผูกพันเกี่ยวโยงถึงช้างหรือศาลปะกำเสมอ จึงกล่าวได้ว่าช้าง มีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมจารีตประเพณีต่าง ๆ มาโดยตลอดพร้อมแผ่นดิน

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภาษากูย (อังกฤษ: Kuy) หรือ ภาษากวย หรือ ภาษาส่วย เป็นภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มกะตู

ภาษากูย (อังกฤษ: Kuy) หรือ ภาษากวย หรือ ภาษาส่วย เป็นภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มกะตู มีผู้พูดทั้งหมด 366,675 คน พบในไทย 300,000 คน (พ.ศ. 2535)  ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ส่วนใหญ่พูดภาษาลาว ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยหรือภาษาเขมรเหนือได้ด้วย พบในกัมพูชา 15,495 คน (พ.ศ. 2532) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดพระวิหาร เสียมเรียบ กำปงธม สตรึงเตรง ส่วนใหญ่พูดภาษาเขมรได้ด้วย พบในลาว 51,180 คน (พ.ศ. 2543) ในแขวงสะหวันนะเขต ส่วนใหญ่อยู่ตามริมแม่น้ำโขงในลาวภาคใต้
ภาษากูยเป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ ใช้ระบบน้ำเสียงแทน ในประเทศไทยมี 3 สำเนียงคือ
    กูยเยอ พบที่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และ อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
    กูยไม พบที่ อ.อุทุมพรพิสัย และ อ.ราษีไศล จังหวัดศีรษะเกษ
    กูยปรือใหม่ พบที่ อ.ขุขันธ์ เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามากลุ่มหลังสุด
ภาษากวยหรือภาษากูย มีอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ มีภาษาที่ใช้สนทนามี 2 สำเนียงคือ
    กวยมหลัว พบที อ.จอมพระ อ.รัตนบุรี อ.ท่าตูม อ.สนม เช่น อาจีง แปลว่า ช้าง จีเหนีย แปลว่า ไปไหน เจียโดย แปลว่า กินข้าว เป็นต้น
    กวยมลอ พบที่ อ.สังขะ อ.บัวเชด อ.ศรีณรงค์ อ.ศีขรภูมิ เช่น เจียง แปลว่า ช้าง จีนา แปลว่า ไปไหน จาโดย แปลว่า กินข้าว เป็นต้น




ภาษากูยในคำภีร์ใบลาน โบราณ



กลุ่มภาษาหลัก ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก
ภาษากลุ่มมุนดา    ภาษามุนดารี ภาษาสันตาลี ภาษาโสรา ภาษาโฮ
ภาษากลุ่มมอญ-เขมร
  •  กลุ่มตะวันออก:กลุ่มกะตู: ภาษากันตู ภาษากูย ภาษาเกรียง ภาษาจะต็อง ภาษาเยอ ภาษาด๊ากกัง ภาษาบรู;กลุ่มบะห์นาริก: ภาษากะเซง ภาษาซรี ภาษาเซดัง ภาษาเตรียง ภาษามนอง ภาษายรุ ภาษาแย็ฮ ภาษาเรเงา ภาษาละวี ภาษาหยูก ภาษาอาลัก ภาษาฮะรัก ภาษาฮาลัง ภาษาตำปวน ภาษาโกรล ภาษากระเว็ต ภาษาละมาม ภาษาบูโล สเตียง ภาษากะโจ
                             :กลุ่มเขมร: เขมร- เขมรสุรินทร์
                             :กลุ่มเวียตติก: ภาษาเวียดนาม ภาษาเหมื่อง ภาษาข่าตองเหลือง ภาษาบอ
  •  กลุ่มเหนือ:กลุ่มขมุ: ภาษาขมุ ภาษาบิต ภาษามลาบรี ภาษาลัวะ ภาษาไพ
                        :กลุ่มปะหล่อง: ภาษากอน ภาษาปลัง ภาษาละเม็ต ภาษาละว้า;กลุ่มเปียริก: ภาษาชอง ภาษาสำเร ภาษาซูโอย ภาษาซาโอช ภาษาเปียร์ ภาษาสมราย; ภาษากาสี
  • กลุ่มใต้:กลุ่มมอญ: มอญ - ญัฮกุ้ร; กลุ่มอัสเลียน: ภาษาซาไก ภาษากินตัก; ภาษากลุ่มเกาะนิโคบาร์
                         

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คนเราต้องภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง

คนเราต้องภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง
“คนเราต้องภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง” พิณี หาสุข ...เกิดและเติบโตที่หมู่บ้านกันตรง หมู่บ้านอันทุรกันดารของชาวไทยเชื้อสายส่วย หรือ กูย ...ในวัยเด็ก พิณี หาสุข ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร เพื่อเข้าไปเรียนหนังสือในตัวอำเภอจอมพระ  จังหวัดสุรินทร์ ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ กับการเป็นคนชายขอบของตัวเอง ซึ่งขาดโอกาสในทุกๆ ด้าน และไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ  ทว่าเขากลับแปรเอาความน้อยเนื้อต่ำใจเป็นพลังในการก้าวเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
พิณี หาสุข เพียรพยายามจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับราชการครู และความก้าวหน้าทางอาชีพราชการ ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ กระทั่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ปี 2550 พิณี หาสุข ได้ขอย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกันตรง โรงเรียนประถมศึกษาเล็ก ๆ เพื่อพัฒนาบ้านเกิด
พิณี หาสุข เริ่มฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมของชาวส่วย เช่น พิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่ พิธีแกลมอ อันเป็นสิ่งที่เขา เคยปรามาสว่างมงาย แต่เนื้อแท้แล้ว พิธีกรรมดังกล่าว คือ กุศโลบายในการรวบรวมจิตใจของคนในชุมชน จากนั้น พิณี หาสุข เห็นว่า ในอดีตบ้านกันตรง ขาดความเป็นระเบียบ จนถึงมีคนเคยตั้งฉายาว่า “หมู่บ้าน ขี้ควาย” เขาจึงเริ่มต้นเป็นผู้นำ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการทำให้สถาบันของชุมชนทั้ง โรงเรียน วัด ครอบครัว ชุมชน เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กัน
พิธีแซนโฎนตาเพื่อบูชาและรำลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ

อ.พิณีให้สัมภาษณ์ถึงวิถีอันเป็นอ้ตลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจแห่งชาวกูย

สาธิตพิธีกรรมแกลมอ หมู่บ้านกันตรง

เพียง 2 ปี จาก “หมู่บ้านขี้ควาย” ก็กลายเป็น “ชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ” นอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้านจะเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นอยู่ การศึกษาของคนในชุมชน ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย  ...ปัจจุบัน พิณี หาสุข ยังไม่หยุดคิด ไม่หยุดเป็นผู้นำ ในการขับการเคลื่อนชุมชนให้พัฒนาไปพร้อม ๆ กับการรักษารากเหง้าแห่งเอกลักษณ์ ของคนไทยเชื้อสายกูยเอาไว้

พิธีกรรมแกลมอ (การรักษาโรคด้วยเพลงดนตรี)

พิธีกรรมแกลมอ (การรักษาโรคด้วยเพลงดนตรี)
ดินแดนภาคอีสาน เป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง ที่มีหลากกลุ่มชาติพันธุ์
“แกลมอ” เป็นภาษากูย “แกล” แปลว่า เล่น คำว่า”มอ” เป็นคำเฉพาะ ซึ่งแกลมอ หมายถึง “การเล่นมอ”พิธีกรรมแกลมอ มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏที่แน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าพิธีกรรมนี้มีมานานแล้ว ชาวกูยรับการถ่ายทอดต่อเนื่องกันมา จากรุ่นสู่รุ่น และปฎิบัติมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยจัดพิธีนี้ขึ้นเนื่องในโอกาส 3 ประการ คือ
1. เพื่อเป็นการเคารพครูบาอาจารย์ ปู่ย่า ตายายที่เคยเคารพ เมื่อถึงวันสำคัญในรอบปีก็จะดำเนินพิธีกรรมขึ้นปีละ 1 ครั้ง ในวันอังคาร ขึ้น 8 หรือ 15 ค่ำ ของเดือนยี่ ตรงกับเดือนมกราคมของทุกปี
2. เพื่อแก้บน ตามที่ได้บนบานไว้
3. เพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำผ่านล่าม หรือคนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย และหาทางรักษาตามความเชื่อ





    ชาวไทยกูย บ้านตรึม  ตำบลตรึม  อำเภอศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์  มีความเชื่อในเรื่องผี
ปู่ตา  และเชื่อว่าตะกวด เป็นตัวแทนของผีปู่ตา   เชื่อว่าตะกวดเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำ  และฝน  
อันเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์  โดยเซ่นไหว้ผีปู่ตาประจำหมู่บ้าน   นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมการเล่นแกลมอ ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยเพลงดนตรี ที่สืบสานกันมานาน  ตั้งแต่บรรพบุรุษ  ซึ่งมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของชาวไทยกูย  เป็นพิธีกรรมที่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคน กับคน  คนกับธรรมชาติ  
องค์ประกอบของพิธีกรรมการเล่นแกลมอ  ประกอบด้วย
1.หิ้งมอ    ประกอบด้วย  เรือ  ไยแมงมุม  คันเชือกผูกไข่ไก่  มีด  ดาบ ธนู  ช้าง ม้า หญ้าคา 1 มัด ไม้แกะสลักเป็นรูปปราสาทราชวัง     
2.เหล้า และเครื่องเซ่น
-เหล้านับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการประกอบพิธีกรรม  จะเป็นเหล้าสาโท  เหล้ากลั่น  หรือ เหล้าโรง ปัจจุบัน ใช้เหล้าขาว เหล้าสี และเบียร์  
-เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วยอาหารคาวหวาน  เต่าต้ม ไก่ต้ม ข้าวเหนียวสุก กล้วย ข้าวต้มมัด หมากพลู ยาสูบ ด้ายสายสิญจน์  น้ำฝน  ขันห้า/ขันแปด ใบเล็บครุฑ ธูป และ เทียน 
-เครื่องเซ่นบนร้านปะรำพิธี  ชั้นบน พื้นใช้ไม้ไผ่สานเป็นตาห่าง ๆ  สำหรับวางขันใส่ข้าวตอก ดอกไม้  แขวนไยแมงมุม และไข่ไก่  ชั้นที่ 2  ใช้ไม้ไผ่ผูกเชือกทั้ง 3 ด้าน ข้าง ๆ จะมีผ้าถุงไหม(ผ้าซิ่น)  ผ้าขาวม้าสีต่าง ๆ ตรงกลางวางทับด้วยดาบพันด้วยด้าย 3 สีของแม่มอ   ด้านล่างมีถาดเครื่องไหว้ครู 1 ชุด  ประกอบด้วย กระจก หวี แป้ง  น้ำมันมะกอก   ข้าวสาร  กรวยใส่ดอกไม้  ผ้าขาวม้า ผ้าถุงไหม กลอง  แคน   หิ้งมอ ขันใส่ข้าวสาร 
3.เครื่องดนตรี  ประกอบด้วย  กลองโทน และ แคน  
4.ปะรำพิธี   ใช้ลานกว้างบริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าภาพ/ผู้ป่วย   ตั้งปะรำพิธีชั่วคราวเป็นโรงไม้ 4 เสา  ปักเป็นมุมกว้าง 4 เมตร ยาว   4 เมตร  มุงหลังคาด้วยใบมะพร้าวหรือหญ้าคา   กลางปะรำพิธีจะสร้างร้านโดยปักเสา 3  ต้น  ใช้ไม้ 2  ต้น และต้นกล้วย 1 ต้น  ภายในปะรำจะปูตาข่ายตาถี่ วางทับด้วยเสื่อสำหรับให้ผู้เล่นได้เข้าไปนั่งทำพิธี  ก็ดีขึ้นเรื่อย  ๆ ตามลำดับ 


ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมการเล่นแกลมอ
1.การแต่งกาย   
แม่มอและมอจะนุ่งผ้าถุงไหม โทนสีดำ สีน้ำตาล เป็นส่วนใหญ่ และใส่เสื้อทรงกระบอกแขนยาว โดยปล่อยชายเสื้ออยู่นอกผ้าถุง  พาดทับเฉียงด้วยผ้าสไบสีดำ สวมเครื่องประดับที่เป็นสายสร้อย ต่างหู และกำไลข้อมือที่ทำจากเงิน 
2.การไหว้ครู และเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเข้าร่าง
แม่มอไหว้ครู  และทำพิธีเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเข้าประทับร่างทรงก่อนคนอื่น  มอคนอื่น ๆ  เริ่มเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเข้ามาประทับร่างทรงของตนเรียงตามลำดับอาวุโส  การเชิญวิญญาณบรรพบุรุษนั้นจะถือขันที่ใส่ข้าวสาร และจุดเทียนในขัน  มือทั้ง 2 จะจับขันไว้ในอาการสงบนิ่งคล้ายกับการนั่งสมาธิ  สักพักตัวเริ่มสั่นเบาๆ  จนกระทั่งแรงขึ้น เหมือนคนทรงเจ้าจะโยกตัวตามจังหวะเสียงกลอง แคน  สักพักก็จะหยุดและมออื่นๆ ก็จะเริ่มเข้าทรงจนครบทุกคน  
3.การร่ายรำ
เมื่อวิญญาณบรรพบุรุษเข้าร่างทรงแม่มอและมอแล้ว ก็จะจัดตบแต่งเครื่องแต่งกายพร้อมกับดื่มน้ำและเหล้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดนตรีจะเริ่มบรรเลงอีกครั้งในจังหวะช้าและเร็วขึ้นตามลำดับ แม่มอและมอทุกคนจะลุกขึ้นร่ายรำอย่างสนุกสนานตามจังหวะของเสียงดนตรีอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การร่ายรำของแม่มอและมอทุกคน โดยส่วนใหญ่คนไหนร่ำท่าใดก็มักจะรำท่านั้นตลอดพิธีกรรม 
ผู้มาร่วมพิธีกรรมหากเกิดความสนุกสนาน ก็สามารถจะร่ายรำกับแม่มอและมอได้        
4.การเล่นช้าง เล่นม้า
โดยแม่มอ  นำช้าง  ม้า ที่ทำจากไม้ยอ มาให้มอถือ และรำรอบเสาพิธี  3  รอบ  จะมีผู้ที่จะมาลักช้าง มา  เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ร่วมพิธีกรรม โดยกระเซ้าเย้าแหย่ และดึงไปจากมือแม่มอ แล้วนำไปซ่อนไว้บริเวณใกล้เคียง  จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการตามหาช้าง ม้า  คนที่ทำหน้าที่ตามหาช้าง ม้า คือนายพราน ถือดาบ ธนู  และสนา หรือหน้าไม้ ไว้สำหรับป้องกันตัวเอง ขณะไปตามช้าง ม้า กลับมา โดยการนำข้าวต้ม ไปเป็นเสบียง ระหว่างที่ตามหาช้าง ม้า   เมื่อตามเจอแล้วแม่มอ และมอคนอื่น ๆ ออกมาตั้งแถวรอคล้องช้าง และจับม้า นอกปะรำ  ในมือจะถือฝ้าย เตรียมคล้องช้าง และจับม้า  เมื่อคล้องช้าง และจับม้าได้แล้ว ก็จะเข้าในปะรำพิธี 
5.การแห่ดอกไม้
บริวารจะจัดเตรียมขันดอกไม้ ซึ่งดอกไม้ที่จัดเตรียมจะเป็นดอกไม้ในท้องถิ่น  การแห่ดอกไม้เป็นการแสดงความยินดีที่มีการเฉลิมฉลองในการที่มีความสุข จากการที่ได้ช้าง ม้า และอื่น ๆ มาอยู่ในกลุ่มหรือตระกูลของตนเอง
6.การตัดแพ และการอาบน้ำผู้เจ็บป่วย
ญาติจะช่วยกันจัดสถานที่ มีถังใส่น้ำ 2 ถัง มีแพ 9 ชั้น ทำด้วยก้านกล้วย  ก่อนจะเริ่มในแต่ละขั้นตอนบรรดามอจะร่ายรำ 3 รอบทุกครั้ง (เวียนซ้าย) การตั้งแพจะตั้งทางทิศใต้ของปะรำพิธี  มีไม้กระดานเตรียมสำหรับผู้ป่วยนั่ง  แม่มอ และมอรองรำนำหน้าทำพิธี  กลุ่มคนที่อยู่บริเวณรอบนอกต่างก็ส่งเสียง ให้ตัดแพโดยเร็ว  ขณะเดียวกันจะมีหนึ่งคน ถือต้นปอที่ลอกเอาใยปอออกแล้ว จุดไฟไปยืนอยู่ด้านหน้าของร่างทรง  แม่มอถือมีดรำรอบตัวร่างทรง   และไปตัดแพที่อยู่ด้านหน้า  หากแพล้มลงเร็ว


8.การบายศรีสู่ขวัญผู้เจ็บป่วย
ผู้ที่อยู่รอบนอก (ผู้หญิง) จะจัดบายศรีสำหรับมอทุกคน   มอนั่งลงตรงหน้าบายศรีแล้วจุดเทียนทำท่ากินเทียน (เปลวเทียน)  3 รอบ เป็นอันจบพิธีกินบายศรี  ผู้มาร่วมพิธีกรรมทั้งหมดที่อยู่บริเวณที่ประกอบพิธีกรรม จะนำด้ายผูกข้อมือผูกให้กับผู้เจ็บป่วย ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตัว และจะทำ ให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ได้หายไป
9.การออกจากร่างทรง
แม่มอ และมอทั้งหมดจะลุกขึ้นรำอีก 3 รอบ แล้วจะทำพิธีกินบายศรี (อาหารที่จัดสำรับเหมือนตอนแรก) เมื่ออิ่มหนำสำราญแล้วก็จะทำพิธีออกจากร่างจะปฏิบัติเหมือนตอนแรกที่เริ่มเข้าทรงเป็นการปล่อยวิญญาณบรรพบุรุษให้ไปอยู่ที่เดิม  ตอนออกหมอแคนจะเป่าแคนให้ทำนองคนเดียวจะไม่ใช้กลองตีให้จังหวะเพราะเชื่อว่าหากได้ยินเสียงกลองมอจะไม่ยอมออกจากร่าง  มอจะออกจากร่างก่อนหลังตามอาวุโสของมอคือจากน้อยไปหามาก   แม่มอจะออกร่างเป็นคนสุดท้าย  เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรม การเล่นแกลมอ  
จากสภาพความก้าวหน้าของโลกในปัจจุบัน  แม้วิวัฒนาการทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใด   การรักษาโรคบางอย่างจำเป็นต้องใช้ค่ารักษาที่สูง  ทำให้ส่วนมากหันไปรักษาด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม  เช่นการรักษาด้วยพิธีธรรม    หมอสมุนไพร   ซึ่งค่าใช้จ่ายในการักษาไม่สูงมากนัก
  พิธีแกลมอประกอบขึ้นยามเหตุการณ์วิกฤตในครอบครัว  จึงเป็นวิธีการบำบัดอีกวิธีหนึ่งที่ยังคงยึดมั่นค่อนข้างเหนียวแน่นเกือบทุกผู้ทุกคน  สังเกตได้จากการเข้าร่วมพิธีกรรมของกลุ่มชนจะพบเห็นทุกเพศทุกวัยในวงพิธีกรรม  แม้ว่าทัศนคติของคนบางคนจะไม่เชื่อในเรื่องนี้  แต่หากมีการประกอบพิธีกรรมก็ยังฝากปัจจัยอื่นๆเข้าสมทบ  และผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ดูหมิ่นหรือกล่าวร้ายต่อแกลมอแต่อย่างใด    พิธีกรรมที่เรียกว่าแกลมอก็ยังอยู่ในระบบความเชื่อตลอดไป

บทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของชาวกูยในประเทศไทย

บทบาทสำคัญทางการเมืองของชาวกูยในประเทศไทย
ผู้นำชาวกูยได้ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นำช้าง, ม้า,แก่นสน,ยางสน,ปีกนก,นอรมาด,งาช้าง, ขี้ผึ้ง สิ่งของดังกล่าวเรียกว่า “ส่วย” โดยนำไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในเวลาต่อมาโดยตั้งให้ หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็นเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครวัด เจ้าเมืองบ้านโคกอัดจะ (บ้านดงยาง) เป็นบ้านสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมือง ตั้งบ้านคูประทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือ ตาพ่อควาน) เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา) เป็นเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ(พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒) ก่อนนี้เป็นสมัยกรุงธนบุรี คือ พ.ศ.๒๓๑๙ เมืองจำปาศักดิ์ เกิดวิวาทกับพระวอ ซึ่งอยู่ที่ดอนมดแดง (ใน จ.อุบลราชธานี ปัจจุบัน) เจ้ากรุงศรีรัตนาคนหุตเวียงจันทร์ โปรดให้พระยาสุโพ คุมกองทัพมาตี พระวอสู้ไม่ได้ และได้จับพระวอฆ่าเสีย ฝ่ายท้าวก่ำ บุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรหม หนีออกมาได้ จึงให้คนถือหนังสือไปกรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปสมทบกับกำลังที่เกณฑ์จากเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ และเมืองสังฆะ ซึ่งเป็นผู้นำชาวกูย ตามตีกองทัพของพระยาสุโพ กองทัพไทยตีเมืองต่างๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด อาณาจักรเวียงจันทร์ และนครจำปาศักด์ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่นั้นมา ในปีเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุรินทร์ เจ้าเมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ เป็นตำแหน่ง “พระยา” ทางเมืองเขมรนั้นกองทัพไทย ได้ยกไปตีเมืองเสียมราช กำปงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ และเมืองรูงตำแร็ย เมืองเหล่านี้ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพไทย จากการชนะสงครามดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้มีกลุ่มชนชาวลาว และชาวเขมรเข้ามาอยู่อาศัย ในชุมชนกูย และมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงกว่าพวกกูย จึงถูกวัฒนธรรมเขมรกลืนไป เช่น เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ ส่วนที่เมืองกุดหวาย (รัตนบุรี) อุบลราชธานี และศรีษะเกษได้มีการปรับเปลี่ยนไปทางวัฒนธรรมลาวไปแทบทั้งสิ้น

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ให้กลุ่มชาวกูย เป็นข้าไพร่แผ่นดินสยาม ได้ถูกเกณฑ์แรงงานและจัดส่งส่วย ให้แก่ทางราชการอยู่โดยตลอด ในสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การเกณฑ์แรงงานกูยในเขตอีสานใต้ (เขมรป่าดง) เริ่มประสบความยุ่งยากเพราะหนุ่มฉกรรจ์ชาวกูย มักหลบหนีการเกณฑ์ บางครั้งถึงกับซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าพนักงาน แล้วหนีเข้าป่า และมีชาวกูยได้ก่อการกบฏขึ้น ดังเช่นกบฏเชียงแก้ว พ.ศ. ๒๓๓๔ ได้เกิดเหตุในแขวงเขตจำปาศักดิ์ และในเขตหัวเมืองต่างๆ ในอุบลราชธานี กบฏสาเกียดโง้งพ.ศ.๒๓๖๓ เป็นกบฏของข่า ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และบริเวณอีสานใต้ ทางกรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเวียงจันทร์ ยกทัพไปปราบ และได้จับสาเกียดโง้ง และชาวข่า(กูย) พร้อมทั้งครอบครัวจำนวนมากส่งมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จำสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวกูยโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านเรือนที่บางบอนธนบุรี กูยเคยมีจำนวนถึง ๓๐๐,๐๐๐ คน ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่พัน เมื่อรัฐไทยได้เข้าไปทำการจัดเก็บภาษีในบริเวณอีสานใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควาย ซึ่งนอกเหนือจากภาษีของคนป่า เพื่อนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เช่นปี พ.ศ.๒๔๐๒ ที่เมืองสุรินทร์ ให้จัดส่งควาย ๖๑ ตัว เมืองรัตนบุรี ๑๖๓ ตัว และกองพระยาภัคดีชุมพลเมืองสุรินทร์ ๓๒ ตัว

การจัดเก็บได้ทวีเพิ่มความรุนแรงขึ้น เมื่อชาวกูยไม่มีสิ่งของเป็นส่วยให้กับทางราชการ และพอถึงปลายรัชกาลที่ ๔ ก็เข้ารอบวิกฤตอีก คือ กูย ไม่มีส่วยสิ่งของส่ง จึงเอาตัวคน กูย ส่งส่วยแทน ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดกบฏผีบุญขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๕ มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกบฎ กับฝ่ายรัฐบาลสะพือ (ปัจจุบันอยู่ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี) หัวหน้าฝ่ายกบฎคือ องค์ลูก น้องขององค์แก้ว หัวหน้าพวกข่า(กูย) ในลาว องค์มั่น มีชาวบ้านเข้าด้วยหลายพันคน เมื่อปะทะกับกองกำลังประมาณ ๑๐๐ คน ของกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงสำเร็จราชการอีสานในวันที่ ๔ เม.ย. ค.ศ. ๑๙๐๒ (พ.ศ.๒๔๔๕) ที่บ้านสะพือ

องค์มั่นก็สั่งให้พรรคพวกนั่งลง ภาวนาเอาบารมีบุญกุศลเป็นที่พึ่ง จะแคล้วคลาดจากกระสุนปืนใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายผู้มีบุญถูกกระสุนปืนใหญ่ตายนับร้อย ที่เหลือถูกจับ หรือแตกหนีไป เมื่อพิจารณา ถึงสาเหุตการเกิดกบฏ ถ้ามองด้านการปกครองรัฐบาลไทย ซึ่งนำเอาอย่างประเทศอาณานิคม คือ อังกฤษ ด้านวัฒนธรรมไม่เอาใจใส่ หรือไม่สนใจกับรากฐานทางวัฒนธรรม ดั้งเดิมที่ตนเข้าไปปกครอง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะกดดันวัฒนธรรมเดิม ให้อ่อนด้อยลงพร้อมกับการนำเอาวัฒนธรรมใหม่เข้าไปแทน

หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์
ในแง่วัฒนธรรมทางการเมือง คือ การล้มเลิกระบบกินเมือง การเก็บภาษี มีการเปลี่ยนเเปลง คือ การเก็บภาษีเป็นตัวเงินที่เห็นได้ชัดคือการเก็บเงินค่าราชการ แต่เดิมรัฐบาลใช้การเกณฑ์เเรงงานเเละส่วย เมื่อมีการปลดไพร่ รัฐบาลเองก็ต้องการเงินมากกว่าเเรงงาน ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ รัฐบาลให้ทุกคนเสียค่าราชการคนละ ๖ บาท เป็นมาตรฐานเดียวกับภาคกลาง ในขณะที่ภาคอีสาน เศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนเเปลงมากนัก ดังนั้นจึงก่อเกิดปัญหาชาวนาในภาคอีสานประสบความยากลำบาก ในการหาเงินเสียค่าราชการ และยังสะท้อนให้เกิดการเคลื่อนย้ายเเรงงานของคนอีสานมายังภาคกลาง ปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบต่อชาวกูยเพราะสอดคล้องกับผลการสำรวจของ เอเจียน เเอมอนิเย ที่กล่าวว่า ชนเผ่ากูยเป็นเผ่าที่ยากจนที่สุด ไม่มีไร่นาจะเพาะปลูก เขามีเพียงไร่ผืนเล็กๆ กลางป่าเพื่อปลูกข้าว ต่อมาฝรั่งได้ขยายอำนาจสู่บริเวณอินโดจีน รัฐไทยมีนโยบายเพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะชายแดนในอีสานตอนใต้ ที่มีชนชาติกูยได้ถูกผนวกเข้ากับรัฐไทย ได้เปลี่ยนสัญชาติกูยเป็นไทย การสำรวจสำมะโนครัว หรือ หากมีราษฎรติดต่อราชการที่จะต้องใช้เเบบพิมพ์ทางราชการให้ปฎิบัติโดย กรอกในช่องสัญชาติว่าไทย บังคับห้ามมิให้ลง หรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ชาติส่วย (กูย) ผู้ไทย ดังที่เคยปฎิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด
สระคู :สระเก่าแก่คู่ อ.จอมพระหมู่บ้านของชาวกูย

อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ชนชาติกูย มีบทบาทสำคัญยิ่งในบริเวณอีสานตอนใต้ ลาวใต้ และกัมพูชาตอนบน (ตะวันออกเฉียงเหนือทะเลสาบเขมร) มีความเป็นมาและได้มีการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผสมกลมกลืนกับชาวกัมพูชา ลาวและไทย ตลอดมาโดยเฉพาะความความสัมพันธ์กับชนชาติไทย ปัจจุบัน กูย มีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บางอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ บ้านสะเดาหวาน อ.พยัคฆ์ภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม และบางอำเภอในเขต จ.อุบลฯ
ขอบคุณ:http://www.surinrelations.org
              :http://www.oknation.net/blog/print.php?id=228973

กูย ผู้ก่อตั้งเมืองสุรินทร์

กูย ผู้ก่อตั้งเมืองสุรินทร์

ภาพจาก:http://isanthailand.blogspot.com/
     รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ ๒๓๐๑-๒๓๑๐) และในปี ๒๓๐๒ พระยาช้างเผือกแตกโรงออกจากกรุงออกไปอยู่ในป่าดงทางตะวันตกแขวงเมืองจำปาศักดิ์ มีผู้นำชาวกูย ๕ คน ให้ความช่วยเหลือข้าหลวงจากอยุธยา ในการติดตามเอาตัวช้างเผือกกลับคืนเมืองหลวงได้ จึงได้รับการตอบแทนความดีความชอบจึงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าว คือให้ ตากะจะ เป็นหลวงสุวรรณ เชียงขัน เป็นหลวงปราบ เชียงฆะ เป็นหลวงเพชร  เชียงปุ่ม เป็นหลวงสุรินทรภักดี เชียงลี เป็นหลวงศรีนครเตา

ช้างป่าเอเชียพันธ์ที่ชาวกูยมีความเชี่ยวชาญในการนำมาฝึกหัดเพื่อใช้งาน

                  ผู้นำชาวกูยได้ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นำช้าง, ม้า,แก่นสน,ยางสน,ปีกนก,นอรมาด,งาช้าง, ขี้ผึ้ง สิ่งของดังกล่าวเรียกว่า “ส่วย” โดยนำไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในเวลาต่อมาโดยตั้งให้ หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็นเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครวัด เจ้าเมืองบ้านโคกอัดจะ (บ้านดงยาง) เป็นบ้านสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมือง ตั้งบ้านคูประทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือ ตาพ่อควาน) เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา) เป็นเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย
ขอบคุณ: http://www.surinrelations.org
              :http://th.wikipedia.org/wiki/